โรคไม่แยแส

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

โรคไม่แยแส – คําที่แกนนำฝ่ายค้านใช้อภิปรายทั่วไปคณะรัฐมนตรีโดยไม่ลงมติ กรณีนายกรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ด้วยถ้อยคำไม่ครบถ้วนถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ว่าเป็นโรคไม่แยแส

ไม่แยแสเป็นคำอธิบายความว่า ไม่ได้สนใจ หรือไม่ให้ความสำคัญ หลังจากฝ่ายค้านและประชาชนส่วนหนึ่งทวงถามประเด็นนี้มานาน ตั้งแต่วันถวายสัตย์ 16 กรกฎาคม

แต่กลับยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน แม้จะมีการยอมรับว่าถ้อยคำที่กล่าวนั้นไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะ ประโยค “ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

ประเด็นอยู่ที่ว่า เมื่อไม่ได้กล่าวออกมา ก็ไม่จำเป็นต้องรักษาและปฏิบัติตาม ใช่หรือไม่

และการกล่าวไม่ครบนี้ จะเป็นตัวอย่างหรือบรรทัดฐานสำหรับรัฐบาลต่อไปหรือไม่

นอกเหนือจากเรื่องถวายสัตย์ปฏิญาณแล้ว คำว่า ไม่แยแส เป็นคำที่น่าวิตกอย่างยิ่งสำหรับบุคคลหรือคณะที่ถือครองอำนาจฝ่ายบริหาร

แม้รัฐบาลขณะนี้พยายามแสดงออกถึงความพยายามรับมือสถานการณ์เฉพาะหน้าที่เผชิญอยู่ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อเรื่องปากท้องของประชาชน

แต่การที่ไม่มีแผนงานและการจัดงบประมาณออกมาให้ชัดเจนว่า ต้องการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน หรือลดความเหลื่อมล้ำในโอกาสทางเศรษฐกิจ ก็อาจถูกประเมินว่าไม่แยแส เช่นกัน

เนื่องจากเส้นทางที่รัฐบาลก้าวขึ้นมาทำหน้าที่ฝ่ายบริหารนั้น ไม่ได้ให้ความสำคัญกับจุดเริ่มต้นตั้งแต่แรกเมื่อมีการถวายสัตย์

หากมองเหตุการณ์ทางการเมืองของไทย ช่วง 13 ปีมานี้ นับจากเหตุการณ์รัฐประหาร 2549 ปัญหาของโรคไม่แยแสเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขและรักษา

เนื่องจากเป็นโรคที่ขัดขวางและบั่นทอนพัฒนาการทางประชาธิปไตย

หากคนจำนวนมากยังคงไม่แยแสว่า เหตุรัฐประหารสร้างความเสียหายต่อประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ สิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐาน รวมไปถึงเศรษฐกิจของประเทศ กลับสนับสนุนให้เกิดซ้ำถึงสองครั้ง

การได้มาซึ่งรัฐบาลที่ไม่แยแสต่อกระบวนการที่ต้องเคารพต่อกติกา และกฎหมายสูงสุด ก็อาจเกิดขึ้นอีก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน