กรุยทางสะดวกขึ้นมาอีกระดับ

สำหรับ”คนนอก”ที่จะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งปลายปี 2560

หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยส่งกลับร่างรัฐธรรมนูญให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ และคณะไปปรับแก้เนื้อหาบทเฉพาะกาลใหม่

ให้สอดคล้องกับ “คำถามพ่วง” ที่ผ่านประชามติ 7 สิงหาคม

ใน 2 ประเด็นใหญ่ด้วยกัน

ประเด็นแรก เกี่ยวกับกระบวนการเลือกนายกฯ คนนอก

ที่ถึงจะไม่มีการเพิ่มสิทธิให้ส.ว. 250 คนสามารถเสนอชื่อนายกฯ ได้ตามที่สมาชิกสนช.และ “นักห้อยโหน” อำนาจต้องการ

แต่ส.ว.ทั้ง 250 คนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็ยังมีสิทธิร่วมกับส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง 500 คน

ในการโหวตเลือกนายกฯ ได้ตั้งแต่ขั้นตอนแรกในการประชุมรัฐสภา

จากเดิมที่ให้สิทธิส.ว.โหวตเฉพาะขั้นตอนที่สองเท่านั้น

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลคสช. อธิบายแปลความคำวินิจฉัยโดยสรุปให้เข้าใจง่ายก็คือ

ขั้นตอนแรกเริ่มจากการประชุม 2 สภา ส.ส.จะเป็นฝ่ายเสนอชื่อคนเป็นนายกฯ ตามบัญชีพรรคการเมืองพรรคละ 3 คน

โดยคนได้รับเลือกต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาหรือ 376 คนจากทั้งหมด 750 คน

ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ต้องประชุมกันจนกว่า จะได้

ถ้าประชุมจนเบื่อแล้วยังเลือกกันไม่ได้จริงๆ ถึงจะเข้าสู่กระบวนการขั้นตอนที่สอง

เป็นเรื่องของ “คนนอก” บัญชีพรรคการเมือง

วิธีการคือต้องให้ที่ประชุมรัฐสภารวมกันเข้าชื่อให้ได้กึ่งหนึ่งหรือ 376 คนในการเสนอญัตติขอ “งดเว้น” เลือกคนจากบัญชีพรรค การเมือง ให้เลือกคนจากนอกบัญชีได้

ซึ่งต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของที่ประชุมรัฐสภาหรือ 501 คนในการโหวตผ่านญัตติดังกล่าว

จากนั้นถึงสามารถเลือกคนนอกเป็น นายกฯ ได้โดยให้ส.ส.เป็นผู้เสนอชื่อ ส.ว.มีสิทธิแค่ร่วมโหวตเท่านั้นไม่มีสิทธิเสนอชื่อ

แล้วก็มาถึงขั้นตอนสุดท้ายที่ต้องใช้เสียงสมาชิกรัฐสภาส.ส.-ส.ว.จำนวนกึ่งหนึ่งหรือเท่ากับ 376 เสียง

ในการโหวตอุ้ม “คนนอก” เข้ามาเป็นนายกฯ

มาถึงประเด็นที่สอง เกี่ยวกับคำว่า “วาระเริ่มแรก” ในการให้ส.ว.ทั้ง 250 คนมีส่วนร่วมโหวตเลือกนายกฯ ในห้วงเวลาเปลี่ยนผ่าน 5 ปี

แต่เดิมตามความเข้าใจของใครหลายคนหรืออย่างนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.ก็ยังเข้าใจว่า

วาระเริ่มแรกควรจำกัดอยู่แค่ในการเลือกตั้งส.ส.แค่ครั้งแรกเท่านั้น

ส่วนการเลือกตั้งครั้งต่อไปควรกลับมาใช้ตามหลักการปกติ

แต่จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ระบุชัดเจนโดยอ้างเจตนารมณ์ของประชามติว่าส.ว.มีสิทธิร่วมโหวตเลือกนายกฯ คนนอก

กี่ครั้งกี่หนก็ได้ในห้วงเวลา 5 ปี

ตรงนี้เองทำให้เกิดข้อหวาดระแวงว่าอาจเป็นการวางแผน”สืบทอด”ในระยะยาวนับจากการเลือกตั้งในปี 2560 ไปอีกอย่างน้อย 8 ปี

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะการเปลี่ยนผ่าน 5 ปีคาบเกี่ยวการเลือกตั้งในปี 2564 อีก 1 ครั้ง

หากใช้หลักการตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็เท่ากับ “คนนอก”จะได้ตั๋วจากส.ว.เข้ามาเป็นนายกฯ สมัยสองอีก 4 ปี บวกกับสมัยแรก 4 ปี รวมกันเป็น 8 ปี โดยไม่นับที่อยู่มาแล้ว 3 ปีเศษตั้งแต่ปี 2557 ถึงปี 2560

ถ้านับก็จะรวมกันเป็น 11 ปี

ย้อนกลับไปยังประเด็นการโหวตเลือกนายกฯ คนนอกที่กำหนดให้ต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกส.ส.และส.ว.รวมกันอย่างน้อย 376 เสียง

ซึ่งในทางทฤษฎีตัวเลขตามหลักคณิตศาสตร์จะว่าง่ายก็ง่ายจะว่ายากก็ยาก

เพราะต่อให้ “ว่าที่” นายกฯ คนนอกมีเสียงส.ว.ที่ตัวเอง” จิ้มเลือก “เข้ามา 250 คนเป็นของตายตุนอยู่ในมือ

แต่การรวบรวมเสียงเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุด

%e0%b8%ad%e0%b9%8b%e0%b8%ad%e0%b8%87

ถึงอย่างไรก็ยังต้องพึ่งพาเสียงส.ส.อีกจำนวน 126 คนเป็นอย่างต่ำ

ฉะนั้นที่คาดหมายกันว่าคนนอกจะ”นอนมา” ถ้ามอง ในแง่ความเป็นได้ สถานการณ์ยังมีโอกาสพลิกผันได้เหมือนกัน

หากพรรคการเมืองขนาดใหญ่และขนาดกลางผนึก กำลังส.ส.ให้ได้ 376 เสียงขึ้นไป แล้วพร้อมใจสามัคคีกันโหวตเลือกนายกฯ ในบัญชีรายชื่อพรรคให้จบสิ้นเสียตั้งแต่รอบแรก

โดยไม่ปล่อยให้สิทธิตกไปอยู่ในมือส.ว.

แต่ก็อีกนั่นแหละภายใต้การเมืองในระบอบอำนาจนิยมเป็นใหญ่

ไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะเขียนเปิดช่องเนื้อหาที่เป็นประชา ธิปไตยไว้มากน้อยแค่ไหนก็ตาม

พอถึงเวลาปฏิบัติจริงก็จะมีนักการเมืองบางพรรคพร้อมจะ”ปิดช่อง”นั้นเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง

สิ่งที่ทำให้นักประชาธิปไตยเชื่อว่าหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า

จะอย่างไรประเทศไทยก็ต้องได้”คนนอก”มาเป็นนายกฯ แน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์

เนื่องจากไม่ใช่แค่การเลือกตั้งแบบ”สัดส่วนผสม”ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อสกัดกั้น ไม่ให้พรรคใดพรรคหนึ่งได้เสียงส.ส.ในสภาอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหมือนการเลือกตั้งแทบทุกครั้งในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา

ที่แน่นอนอีกอย่างหนึ่งก็คือระหว่าง 2 พรรคการเมืองใหญ่เพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ที่เหมือนน้ำกับน้ำมัน

หัวเด็ดตีนขาดก็ไม่มีทางร่วมหัวจมท้าย กันได้

ต่อให้เป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวพันถึงอนาคตประเทศชาติและประชาชน หรือแม้กระทั่งชะตากรรมพรรคการเมืองโดยรวมก็ตาม ดูได้จากเหตุการณ์”ม็อบชัตดาวน์”ประเทศเมื่อปี 2556-2557 เป็นต้น

ขณะที่ในส่วนของพรรคเพื่อไทย จากสถานการณ์ปัจจุบันที่แกนนำส่วนหัวตกเป็นฝ่ายถูกไล่บดขยี้ ด้วยข้อหาคดีความต่างๆ นับไม่ถ้วน

โดยเฉพาะคดีรับจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ล่าสุดคณะกรรมการของกระทรวงการคลังสรุปตัวเลขค่าเสียหายยอดรวมที่ 1.7 แสนล้านบาท

แยกเป็นในส่วนที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องชดใช้คนเดียว 3.5 หมื่นล้านบาท

การเตรียมลงนามในคำสั่งทางปกครองเพื่อนำไปสู่การยึดทรัพย์ ได้ทำให้เกิดคำถามตามมาว่าเป็นการ”ชี้นำ”ผลทางคดีอาญาทางอ้อมหรือไม่

รวมถึงปฏิบัติการล้างบางครั้งใหญ่ กรณีป.ป.ช.ตั้งอนุกรรมการไต่สวนข้อกล่าวหาใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบกับ 40 อดีตส.ส.เพื่อไทยที่เข้าชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย

ถ้าทุกอย่างเข้าล็อกที่วางไว้

ก็ไม่รู้ว่าพรรคเพื่อไทยจะเหลือคนลงสมัครเลือกตั้งครั้งหน้าสักกี่คน

เหนือสิ่งอื่นใดประเด็นใหม่ที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เพิ่งเปิดออกมาสดๆ ร้อนๆ

หากเลือกตั้งเสร็จแล้วเวลาผ่านไป 5-6 เดือน ส.ส.กับส.ว.ยังตกลงกันไม่ได้ว่าจะเลือกใครเป็นนายกฯ

ทางออกก็คือการ”ยุบสภา”

โดยรัฐบาลชุดปัจจุบันมีอำนาจทำได้เพราะรัฐธรรมนูญเขียนให้รัฐบาลและคสช.อยู่ไปจนถึงมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่ถวายสัตย์ปฏิญาณและเข้าปฏิบัติหน้าที่ โดยมาตรา 44 ยังมีผลอยู่

ประเด็นก็คือถึงจะยุบสภาจัดการเลือกตั้งใหม่อีกรอบก็ยังอยู่ในเงื่อนไขช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้อยู่ดี

ที่จะบอกก็คือถึงอย่างไรนายกฯ ก็ยังต้องมาจาก”คนนอก”วันยังค่ำ

เพียงแต่”มาเร็ว”หรือ”มาช้า”เท่านั้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน