ลงพื้นที่ช่วยชาวบ้าน

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ลงพื้นที่ช่วยชาวบ้าน : การช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคอีสาน โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานี ปรากฏเป็นข่าว มีบุคคลดังระดมเงินบริจาคไปมอบให้ผู้ประสบภัย รวมถึงนายกรัฐมนตรี และคณะลงพื้นที่สำรวจตรวจตราพบประชาชน

แต่เกิดประเด็นถกเถียงทางการเมืองที่ตามมา ระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน รวมถึงข้อมูลเผยแพร่ทางสื่อโซเชี่ยล และการตรวจสอบของสื่อมวลชน

สรุปได้ใจความว่าเป็นข้อโต้แย้งถึงการทำหน้าที่ช่วยเหลือ ฟื้นฟู และเยียวยาให้ประชาชนที่ประสบภัย หรือได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ว่ามีประสิทธิภาพ รวดเร็ว แก้ไขได้ตรงจุด หรือไม่

ภารกิจดังกล่าวบรรเทาความเดือดร้อนได้มากน้อยเพียงใด หรือก่อให้เกิดผลกระทบข้างเคียงต่อชาวบ้าน ซึ่งต้องแก้ไขหรือไม่

กรณีสื่อเสนอข่าวหรือการแสดงความคิดเห็นของประชาชนที่ประสบภัย ทั้งโดยตรงและผ่านสมาชิกสภาผู้แทนฯ เป็นเสียงสะท้อนด้านหนึ่งไปถึงรัฐบาล

เนื่องจากเมื่อมีภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งหนึ่งๆ ความเสียหายจะกินบริเวณกว้างและมีรายละเอียดปลีกย่อยของปัญหาที่ต้องอาศัยวิธีแก้ไขฟื้นฟูเร่งด่วนต่างกัน

ดังนั้นการท้วงติง หรือนำเสนอปัญหาต่อรัฐบาล แม้อาจดูเป็นคำตำหนิติเตียน แต่ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลชี้แจงได้ หรือแม้แต่นำข้อมูลไปตรวจสอบข้อเท็จจริงให้กระจ่างได้

รัฐบาลจึงน่าจะรับข้อมูลเหล่านี้ไว้พิจารณา โดยไม่ต้องหวาดระแวง ว่าเจตนาจะทำลายชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของรัฐบาล

การที่นายกรัฐมนตรีถามหาส..ฝ่ายค้าน ระหว่างการลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยชี้แจงภายหลังว่า เพื่อจะถามข้อมูลจากที่ส..ฝ่ายค้านก็ได้ ไปฟังความต้องการของชาวบ้าน เป็นเรื่องที่ สมควรทำ

เหมือนกับเหตุการณ์ที่ภาคใต้ของไทยประสบภัยสึนามิครั้งใหญ่ เมื่อปี 2547 และต้องรับมือกับปัญหาต่อเนื่องมาถึงปี 2548

ช่วงเวลานั้นรัฐบาลและฝ่ายค้านที่เป็นเจ้าของพื้นที่ ต่างร่วมมือกัน ช่วยทำให้ขั้นตอนการประสานงานระหว่างส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่นราบรื่นขึ้น

ไม่มีการถามหาว่าส..ฝ่ายค้านอยู่ที่ใด คอยจะเลื่อยเก้าอี้นายกฯ หรือไม่ และไม่มีคำชี้แนะให้ชาวบ้านไม่ต้องเลือกส..พรรค นั้นพรรคนี้ จนบดบังภารกิจบรรเทาทุกข์ภัยให้ประชาชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน