FootNote:กลยุทธ์เขี้ยว7พรรคร่วมฝ่ายค้าน ขับเคลื่อนข้อตกลงรัฐธรรมนูญใหม่

นับวันกระบวนการการเคลื่อนไหวเพื่อนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญ ก็เหยียบเข้าไปใกล้กับท่วงทำนองของบทเพลง “เราสู้” เด่นชัดมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน

นั่นก็คือ ท่วงทำนองในแบบ “กูจะสู้แม้จะรู้ว่าพวกกูน้อย” และ “กูจะสู้ แม้จะรู้ว่าพวกกูแพ้”

ก็อย่างที่ นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ ออกมาตั้งข้อสังเกต

นั่นก็คือ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายรัฐบาล และหากไม่ได้รับความร่วมมือจาก 250 ส.ว.ก็เป็นไปไม่ได้เลยที่จะประสบความสำเร็จ

ความน่าสนใจจึงอยู่ที่ว่า เมื่อความเป็นจริงดำรงอยู่เช่นนี้อะไรคือกลยุทธ์ของ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน

หากดูจากการขับเคลื่อนทั้งกระบวนก็จะเห็นว่า แนวหน้าของการ เคลื่อนไหวอาจกระทำโดย 7 พรรคร่วมรัฐบาลโดยตรงอันมี พ.ต.ท.ทวี สอดส่อง จากพรรคประชาชาติเป็นกำลังสำคัญ

ขณะเดียวกัน ก็กระทำผ่าน จินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่รัฐธรรมนูญใหม่

ส่วนหลังมีพรรคอนาคตใหม่เป็นหัวรถจักรทะลวงลุย

ยิ่งกว่านั้น สังคมเริ่มสัมผัสผ่านการเคลื่อนไหวทั้งในหมู่ปัญญาชนรุ่นใหญ่ และปัญญาชนรุ่นใหม่ ประสานเข้ากับภาค ประชาสังคม

นั่นก็คือ บทบาทของ ดร.โคทม อารียา นั่นก็คือ บทบาทของ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ นั่นก็คือ บทบาทของ ดร.สมชัย ศรีสุทธิยากรและบทบาทของ ดร.อนุสรณ์ อุณโณ

ยิ่งกว่านั้น ไม่ว่า นายกษิต ภิรมย์ ไม่ว่า นายพริษฐ์ วัชรสินธุ์ ต่างก็มีองค์กรขับเคลื่อนของตน และนับวันองค์กรภาคประชาชนที่มีความเป็นอิสระยิ่งสำแดงตัวตนออกมา

เห็นหรือไม่ว่า 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านมิได้โดดเดี่ยว

กลยุทธ์ของ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านคือการจับมือกับภาคประชาสังคม ขณะเดียวกันก็อาศัยในแต่ละขั้นตอนเพื่อให้ฝ่ายรัฐบาลสำแดงตัวตนที่แท้ออกมา

ที่สำคัญก็คือ ตัวตนแท้ในการกำหนดนโยบายเร่งด่วน

ที่สำคัญก็คือ ตัวตนอันเป็นเป้าหมายแท้จริงที่จะแก้มีความจริงจังมากน้อยเพียงใด

ไม่ว่าพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน