คอลัมน์ ออกจากกรอบ : ฮักเชิล คิม

หนังสือพิมพ์ข่าวสด

เมื่อปีที่แล้วผมเดินทางไปร่วมงานประชุมผู้นำทางการศึกษาที่ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งมูลนิธิ IYF จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยช่วงหนึ่งของโปรแกรมมีผู้หญิงคนหนึ่งได้แบ่งปันเรื่องราวของเธอผ่านการบรรยายเกี่ยวกับเรื่องโลกของจิตใจ หรือ Mind Lecture ให้กับอธิการบดีจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เข้าร่วมงาน

เธอเล่าว่า เมื่อ 12 ปีก่อนเธอเกิดอุบัติเหตุทำให้กระดูกสันหลังได้รับความกระทบกระเทือนจนเดินไม่ได้ ต้องใช้ชีวิตอยู่บนรถเข็น ต้องพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กร่างกายตลอดเวลา ซึ่งทุกครั้งแพทย์ประจำตัวก็มักจะบอกว่า ‘เธอจะไม่สามารถกลับมาเดินได้อีก’ ต้องใช้ชีวิตที่เหลืออยู่เป็นคนพิการตลอดชีวิต ซึ่งแพทย์ก็ประเมินจากการตรวจทางกายภาพ และตัดสินจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ดังนั้นในจิตใจของเธอจึงมีแต่ความสิ้นหวังกับตัวเอง วันๆ หนึ่งก็ใช้ชีวิตอยู่บนเตียง และรถเข็น ออกไปช็อปปิ้งหรือใช้ชีวิตแบบเด็กสาวคนอื่นไม่ได้ เธอสัมผัสว่ามันทุกข์ทรมานเหลือเกินกับใช้เบาะในการดันตัวเพื่อให้นั่งได้ปกติ และทุกครั้งที่กินข้าวจะต้องมีคุณแม่คอยช่วยเหลือ

“ฉันได้แต่ถามตัวเองว่ากินข้าวไปเพื่ออะไร มีคนมากมายบนโลกนี้ ทำไมต้องเป็นฉัน? รู้สึกเหมือนโดนสาปแช่ง รู้สึกว่าถ้าฉันตายไปคงไม่มีใครเสียใจ” ความคิดเหล่านี้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ

จิตใจที่ห่อเหี่ยวก็ทำให้ร่างกายของเธอแย่ตามไปด้วย แต่วันหนึ่งเธอได้พบกับพาสเตอร์ อ็อก ซู พาร์ค ผู้ก่อตั้งมูลนิธิของเรา ที่บอกว่า ‘เธอจะเดินได้อีกครั้ง’ เมื่อฟังดังนั้นก็ไม่สามารถเข้าใจได้ เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นคือ ขาเริ่มลีบลงเรื่อยๆ และแพทย์ก็ยังคงบอกว่า ‘ไม่สามารถเดินได้ตลอดชีวิต’

เป็นคำพูดที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และยากมากครับที่จะเลือกเชื่อคำพูดของพาสเตอร์ เธอจึงยังใช้ชีวิตแบบไร้ความหวังเช่นเดิม

จนวันหนึ่งคุณพ่อชวนเธอชวนไปดูหนังเรื่องหนึ่ง ช่วงแรกก็ยืนกรานปฏิเสธ เพราะรู้สึกว่าการนั่งรถเข็นออกไปข้างนอกเป็นสิ่งที่น่าอาย แต่ก็ทนแรงตื้อของท่านไม่ไหว จนได้ดูหนังเรื่อง “อวตาร” ที่พระเอกเป็นคนพิการต้องนั่งรถเข็นเหมือนเธอ จนวันหนึ่งได้เข้าร่วมโครงการทางวิทยาศาสตร์เพื่อเชื่อมต่อกับร่างอวตาร และเมื่อใดที่เชื่อมกับร่างอวตาร เขาจะสามารถใช้ชีวิตที่ปกติได้

วินาทีนั้นเธอจึงถามกับตัวเองว่า “แล้วฉันละเชื่อมต่ออยู่กับจิตใจแบบไหน? จิตใจของความโชคร้าย และถูกสาปแช่งใช่ไหม? แล้วหากฉันจะมีความสุข ฉันต้องตัดขาดกับการเชื่อมโยงแบบนี้ และรับความหวังใจเข้าไปไม่ใช่หรือ?”

‘คนที่ใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยความหวังจะได้รับการเปลี่ยนแปลง’ นี่คือสิ่งที่พาสเตอร์บอกเสมอ

จากนั้นพาสเตอร์ก็บอกให้เธอไปเรียนหนังสือด้วยสภาพที่ต้องนั่งรถเข็น แต่เธอก็รับจิตใจนั้นและเรียนจบ
การเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเธอเกิดขึ้นเมื่อจิตใจเชื่อมต่อกับพาสเตอร์และรับความหวังเข้ามา ก่อนหว่านคำพูดนั้นลงในจิตใจ เธอเริ่มต้นรับการทำกายภาพบำบัดเพื่อฝึกเดิน ทั้งที่ไม่รู้ว่าตัวเองจะเดินได้ไหม แต่ก็แค่ใช้ชีวิตไปแบบที่พาสเตอร์บอก เวลาผ่านไปเธอสามารถว่ายน้ำได้ ซึ่งแพทย์ก็ตกใจกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มาก

เธอบอกว่า “ที่ฉันคิดว่าตัวเองโชคร้ายนั้นเป็นการเชื่อจากมุมมองและมาตรฐานของฉัน แต่เมื่อได้พบกับพาสเตอร์ที่ปลูกความหวังให้ฉันและทำให้ฉันหลุดจากความสิ้นหวังนั้นได้”

ผมคิดว่า เราพบเจอความยากลำบากเพื่อให้เรารู้ว่าตัวเองอ่อนแอ เป็นคนที่ต้องได้รับความหวัง และกำลังจากคนอื่น เหมือนที่ผู้หญิงคนนี้ได้รับจากพาสเตอร์พาร์ค หากรับรู้สิ่งนี้ ก็จะกลายเป็นคนที่มีความสุขได้ครับ


ดร.(กิตติมศักดิ์) ฮักเชิล คิม
ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ ประจำประเทศไทย
FB : Mind World by Kim Hak Cheol, Ph.D.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน