พิษร้ายตัวจริง ไม่ใช่แค่บริวาร

รายงานการเมือง

ถึงแม้รัฐบาลภายใต้การกุมบังเหียนของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมจะผ่านด่าน

การอภิปรายในสภากรณีปมถวายสัตย์ฯ ไม่ครบ และการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญประเด็นคุณสมบัติเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไปได้ รวมถึงปัญหาน้ำท่วมใหญ่ภาคอีสานคลี่คลายลงหลังประสบวิกฤตนานเกือบ 2 เดือน

ในจังหวะการเมืองเข้าสู่ช่วงปิดสมัยประชุมสภาไปจนถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน

แต่อุณหภูมิการเมืองไม่ได้ลดลงเหมือนสภาพอากาศ ยังรักษาระดับร้อนแรงต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นประเด็นติดพันมาตั้งแต่ช่วงก่อนสภาปิดสมัยประชุม ไม่ว่ากรณีถวายสัตย์ฯ ที่รัฐบาลตอบคำถามชี้แจงในสภาได้ไม่เคลียร์

เป็นเหตุให้ฝ่ายค้านค้างคาใจ เตรียมลุยต่อดาบสอง ดาบสาม

ใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญเข้าชื่อยื่นต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือป.ป.ช.

ให้พิจารณาส่งเรื่องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะเห็นว่ากรณีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วน

เป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ เข้าข่ายผิดมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง

7 พรรคฝ่ายค้านยังจะพิจารณาว่า นอกจากกรณีถวายสัตย์ฯ อาจกล่าวหาในประเด็นอื่นอีก เช่น เรื่องความซื่อสัตย์สุจริต การทุจริตคอร์รัปชั่น

การแต่งตั้งผู้มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมมาเป็นรัฐมนตรี อย่างที่บางคนตกเป็นข่าวอื้อฉาวทั้งในสื่อเก่าและสื่อใหม่เมื่อช่วง 2-3 สัปดาห์ก่อน

ส่วนดาบสาม เป็นมาตรการยาแรง คือเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล

แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น ฝ่ายค้านยังมีภารกิจใหญ่คั่นเวลา คือการอภิปรายชำแหละร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ซึ่งจะมีการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าววันที่ 18 ตุลาคม

สำหรับจำนวนวันอภิปราย เบื้องต้นนายชวน หลีกภัย ประธานสภากำหนดไว้ 2 วัน แต่ถ้าไม่จบก็ขอต่อเวลาได้ โดยไม่กำหนดล่วงหน้าว่าจะยืดได้กี่วัน ทุกอย่างขึ้นอยู่กับเนื้อหาอภิปรายต้องไม่ซ้ำซาก วกวน น่ารำคาญ

มองจากมุมนี้ เท่ากับว่าช่วงสภาปิดเทอมนานเดือนเศษ

เป็นเวลาดีของพรรคฝ่ายค้านในการ “ลับมีด” เตรียมชำแหละร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ตลอดจนรวบรวมข้อมูลสำหรับยื่นญัตติไม่ไว้วางใจในสมัยประชุมสภาหน้า

ตามที่มีกระแสข่าวแกนนำฝ่ายค้านบางคน จองตั๋วเครื่องบินเดินทางไปหาข้อมูลหลักฐานบางอย่างที่ออสเตรเลีย

ยังมีเวลาทุ่มเทให้กับเวทีสัญจร 4 ภาค ปลุกกระแสประชาชนทั่วประเทศ ตระเวนพบปะสื่อมวลชน หาแนวร่วม ปรับจูนแนวทางผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560

อันเป็นเป้าหมายสูงสุดร่วมกันของ 7 พรรคอีกด้วย

ในทางตรงข้าม เป็นรัฐบาลที่ดูเหมือนไม่ได้ประโยชน์จากช่วงสภาปิดสมัยประชุมเท่าใดนัก แทนที่จะได้หยุดพักหายใจหายคอจากการเมืองรุมเร้า กลับยังต้องเผชิญกับกระแส “ขาลง” ต่อเนื่อง

ตลอดทั้งสัปดาห์ 21-27 กันยายนที่ผ่านมา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ นำคณะเดินทางไปร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญครั้งที่ 74 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

โชว์วิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศไทยในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาว่า รัฐบาลของตนเองได้วางรากฐานด้านต่างๆ และให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาปากท้องและความเหลื่อมล้ำในสังคม

ด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลปรับปรุงกฎระเบียบและวิธีทำงาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักธุรกิจและนักลงทุนเพิ่มขึ้น

ด้านสังคม รัฐบาลประกาศต่อต้านการค้ามนุษย์เป็นวาระ แห่งชาติ กำกับดูแลปัญหาจัดการปัญหาประมงผิดกฎหมาย

ด้านการเมือง รัฐบาลได้ปฏิบัติตามโรดแม็ปอย่างครบถ้วน ต่อจากนี้ประเทศไทยจะเดินไปข้างหน้า ภายใต้รัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ

โดยมีเป้าหมายทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศรายได้สูงภายในปี 2579 หรือในอีก 17 ปีข้างหน้า มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน มีพัฒนาการทางสังคมที่เป็นธรรม และเท่าเทียมในสิทธิพื้นฐาน

แต่ที่เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ข้ามทวีปมาถึงเมืองไทย

กรณี พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถ้อยแถลงบนเวทีประชุมยูเอ็นให้ผู้นำทั่วโลกรับฟัง ถึงความสำเร็จของประเทศไทยภายใต้รัฐบาลของตนเอง

ที่สามารถดำเนินโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ครอบคลุมประชากรเกือบหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์

ทั้งยังระบุความสำเร็จการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเท่าเทียม ประสิทธิภาพและการมีส่วนร่วม โดยประเทศไทยยินดีเป็นต้นแบบ แบ่งปันความรู้ให้ทั่วโลกนำไปปฏิบัติ

พรรคเพื่อไทยซึ่งสืบเชื้อสายมาจากพรรคไทยรักไทยเป็นหัวหอกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ถึงพริกถึงขิง

เนื่องจากโครงการ 30 บาทที่ พล.อ.ประยุทธ์ นำไปอวดเป็นผลงานบนเวทียูเอ็น แท้จริงแล้วคือแนวคิดบุกเบิกของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ อดีตกลุ่มแพทย์ชนบท และนักกิจกรรมยุค 6 ตุลา

ที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และหัวหน้าพรรคไทยรักไทย รับไปดำเนินการปฏิบัติจนประสบความสำเร็จ กลายเป็นผลงานชิ้นเอกที่ประชาชนจำไม่ลืมถึงทุกวันนี้

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รอง นายกฯ และรมว.สาธารณสุขคนปัจจุบัน ยังยอมรับอดีตนายกฯ ทักษิณ คือ ผู้ริเริ่มโครงการดังกล่าว เป็นคุณูปการที่ได้ทำให้กับประเทศไทยซึ่งไม่มีใครลืมได้

ไม่แต่เฉพาะโครงการ 30 บาท ยังมีอีกหลายเรื่องที่ตกเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับบทบาทของพล.อ.ประยุทธ์ ที่สหรัฐ

ไม่ว่าการพูดถึงการบริหารจัดการแก้ปัญหาน้ำท่วม จ.อุบลราชธานี และการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ให้คนไทยในสหรัฐได้รับฟัง ตอนหนึ่ง

“รัฐบาลก็เตรียมที่พักพิงให้กับเขา มีห้องแอร์ให้อยู่ก็ไม่ไป ชอบอยู่บนถนน เพราะคนผ่านไปผ่านมาเยอะดี มีคนมาเยี่ยมบ่อย นี่แหละคนไทย คิดอย่างนี้ ผมไม่ว่าอะไรเขา ลงไปก็ไม่เคยไปสั่งรื้ออะไรทั้งสิ้น”

หรือการกล่าวบนเวทีเอเชียโซไซตี้ ทิ้งทวนที่สหรัฐก่อนบินกลับไทย สั่งสอนประชาชนเรื่องการใช้อินเตอร์เน็ตและเว็บไซต์กูเกิ้ล (Google)

“พวกเรานักบริหารจะเปิดกูเกิ้ลเป็น ส่วนใหญ่ ประชาชนจะไม่ค่อยเปิด นั่นแหละทำให้ปัญหามันเกิดขึ้น เพราะเขาไม่เรียนรู้ไง”

คำพูดของนายกฯ มีคนไม่เห็นด้วยจำนวนมาก ในโลกโซเชี่ยลนำเรื่องนี้มาล้อเลียนกันสนุกสนาน

ในทวิตเตอร์มีผู้ใช้แฮชแท็ก #PrayuthGetOut กับ #นายกกูเกิ้ล จำนวนมาก เป็นแฮชแท็กยอดนิยมชั่วข้ามคืน

ในช่วงเวลาชี้เป็นชี้ตายของรัฐบาล มีศึกใหญ่ต้องเผชิญหน้าดุเดือดกับฝ่ายค้านในสภาพเสียงปริ่มน้ำ เป็นสถานการณ์หืดจับอยู่แล้ว

แทนที่ผู้นำรัฐบาลจะทำหน้าที่เป็นตัวหลัก กอบกู้ความเชื่อมั่นศรัทธาประชาชน เป็นกำลังหลักประคับประคองเรือเหล็กไปให้ถึงฝั่ง

แต่กลายเป็นว่าสิ่งที่ผู้นำรัฐบาลแสดงออกแต่ละครั้งแต่ละเรื่อง ล้วนซ้ำเติมให้สถานการณ์ของรัฐบาลย่ำแย่ลง

ก่อนหน้านี้มีหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านอิสระสวมวิญญาณโหรการเมือง

ทำนายรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ไม่ได้นานเพราะ “บริวารเป็นพิษ”

มาถึงตอนนี้ด้วยพฤติกรรม กิริยาท่าทางการแสดงออก และอะไรอีกหลายๆ อย่าง เป็นตัวบ่งชี้ว่าสิ่งที่ “เป็นพิษ” นั้น

ไม่ได้เกิดจากบริวารนายกฯ อย่างเดียว เสียแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน