ช่องว่างออนไลน์ : บทบรรณาธิการ

ประเด็นการใช้สื่อออนไลน์ โดยเฉพาะเสิร์ชเอ็นจินอย่างกูเกิ้ล-Google ที่นายกรัฐมนตรี พูดบนเวทีปาฐกถา หัวข้อประเทศไทยในบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลง จัดโดยเอเชีย โซไซตี ที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อสัปดาห์ก่อน เป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

คำแนะนำให้คนไทยต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับเทคโนโลยีดิจิตอลและโซเชี่ยลมีเดีย ซึ่งมีทั้งวิกฤตและโอกาส เป็นความเห็นธรรมดาทั่วไป

แต่ประโยคว่า นักบริหารส่วนใหญ่จะเปิดกูเกิ้ลกันเป็นประจำ ผิดกับประชาชนไม่ค่อยใช้จึงไม่ได้เรียนรู้ เป็นความเห็นที่อาจสะท้อนถึงปัญหาด้านการบริหารงาน

เพราะผู้นำจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลการรับรู้ที่ใกล้เคียงสถานการณ์จริงมากที่สุด

กูเกิ้ลเป็นเว็บไซต์สำหรับการค้นหาที่เปิดมานานตั้งแต่ปี 2547 เป็นเสิร์ชเอ็นจินของคนทั่วโลก รวมถึงคนไทย

การค้นหาดังกล่าวมีเป้าหมายแตกต่างกันไปตามการใช้งานของแต่ละคน แต่เป็นที่ทราบโดยทั่วไปทั้งไทยและเทศ โดยเฉพาะแวดวงธุรกิจ และวิชาการ ว่าไม่อาจเชื่อถือข้อมูลที่ค้นหาจากกูเกิ้ลได้ทั้งหมด ต้องมีการตรวจสอบอีกหลายทาง

ตัวเลขคร่าวๆ ณ ปัจจุบัน มีการค้นหาข้อมูลบนเว็บไซต์กูเกิ้ล มากกว่า 3,000 ล้านครั้ง ทั่วโลกต่อวัน

ส่วนสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ระบุว่าตัวเลขคนไทยใช้งานอินเตอร์เน็ตปี 2561 เฉลี่ยต่อวัน 10 ชั่วโมง 5 นาที

ความเข้าใจไปว่าประชาชนคนไทยไม่ค่อยเปิดใช้งานกูเกิ้ล จึงสะท้อนถึงช่องว่างระหว่างผู้บริหารปกครองกับประชาชน

คล้ายกับที่ทางการไม่เข้าใจว่า เหตุใดชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วมจึงไปยอมไปอยู่ในสถานที่พักพิงซึ่งอยู่สบายจัดไว้ให้ในค่ายทหาร แต่ยอมนอนริมถนนใกล้บ้านตนเองให้มากที่สุด

ความไม่เข้าใจว่า กระแสการวิจารณ์คดีพริตตี้สาวลันลาเบลเสียชีวิต ไปต่างๆ นานานั้นเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องที่น่าวิตกกังวลสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งยึดหลักฐานข้อมูลในการสอบสวน

ถ้าผู้นำไม่รู้จักประชาชนของตนเองอย่างถ่องแท้ จะเป็นเรื่องยากสำหรับการวางนโยบายและบริหารงาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน