ลวนลาม-สาวเอ็นฯ สะท้อนปม‘ลันลาเบล’

ลวนลาม-สาวเอ็นฯ สะท้อนปม‘ลันลาเบล’ – จากคดี “ลันลาเบล” พริตตี้สาวที่ได้รับการว่าจ้างรับงานเอ็นเตอร์เทนก่อนพบว่าเสียชีวิตในเวลาต่อมา แพทย์นิติเวชเผยผลชันสูตรพบปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสูงถึง 418 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์เป็นเหตุให้เสียชีวิต ไม่เพียงสาเหตุการตายซึ่งเป็นที่สนใจ แต่คดีนี้ยังทำให้สังคมตื่นตัวและตั้งคำถามถึงการลวนลามและการล่วงละเมิดทางเพศ

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) เครือข่ายองค์กร งดเหล้า มูลนิธิธีรนารถ กาญจนอักษร มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และเครือข่ายปกป้องเด็กและเยาวชนจากปัจจัยเสี่ยง ทางสังคม

ลวนลาม-สาวเอ็นฯ สะท้อนปม‘ลันลาเบล’

เวทีเสวนา

จัดเสวนา “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับพฤติกรรมดื่มหนักดื่มเร็ว และการคุกคามทางเพศ” ถอดบทเรียนจากการเสียชีวิตของพริตตี้สาว พบข้อมูลการดื่มหนัก ดื่มเร็ว ที่อาจมีการจูงใจบังคับดื่มหรือแข่งดื่ม ภายในงานมีกิจกรรมตัวแทนเครือข่ายเยาวชนและผู้เข้าร่วมงานช่วยกันพับนกและผีเสื้อกระดาษ ร้องเพลง อ่านบทกวี และยืนสงบนิ่งไว้อาลัยผู้วายชนม์

ลวนลาม-สาวเอ็นฯ สะท้อนปม‘ลันลาเบล’

นางสาวเอ (นามสมมติ) อดีตสาวเชียร์เบียร์ที่คลุกคลีกับ วงการพริตตี้สายเอ็นฯ เล่าว่า เคยทำงานเป็นสาวเชียร์เบียร์ เพราะต้องการหาเงินมาเรียนต่อปริญญาตรี เลือกทำงานนี้เพราะเป็นงานที่ไม่หนักมาก ได้เงินเยอะ มีเวลาไปเรียน อ่านหนังสือ เพื่อนหลายคนก็ทำงานนี้เพื่อหาเลี้ยงครอบครัว แต่ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกลวนลามหรือคุกคามทางเพศ

“หลายคนเหมารวมว่าเป็นพริตตี้ เป็นเด็กเชียร์เบียร์ ก็ต้องเอาเงินไปเที่ยวเตร่ซื้อของแบรนด์เนม และเข้าไปทำงานตรงนั้นเองถ้าโดนลวนลามก็ต้องยอมรับความเสี่ยง แต่ที่จริงแล้วพวกเขาก็มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหมือนกันในทุกๆ อาชีพ รวมทั้งน้องๆ เหล่านี้ไม่ควรมีใครถูกล่วงละเมิด ถูกมอมเหล้ามอมยาเพื่อบังคับข่มขืนทั้งร่างกายและจิตใจ ส่วนตัวเชื่อว่ามีจำนวนมากที่ถูกล่วงละเมิดไปจนถึงถูกข่มขืน แต่ไม่มีใครกล้าลุกขึ้นมาบอกความจริง

บางคนมีวิธีการเอาตัวรอดในการรับงาน เช่น ไม่ดื่มเหล้าแก้วคนอื่น มือไม่ห่างแก้วเหล้าตัวเอง ประมาณตัวเองว่าดื่มได้แค่ไหน พยายามดูแลตัวเองให้ได้มากที่สุด แต่บางทีก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยง แต่เป็นอาชีพที่ไม่ผิดกฎหมาย เราไม่ได้ฆ่าใครตาย ทุกอาชีพมีทั้งดีและไม่ดี อยากให้คนให้เกียรติกัน ไม่มีใครอยากโดนล่วงละเมิดทางเพศ” นางสาวเอกล่าว

ด้าน น.ส.นัยนา สุภาพึ่ง ผอ.มูลนิธิ ธีรนาถ กาญจนอักษร กล่าวว่า สังคมไทยยังมีมายาคติเกี่ยวกับการดื่มที่แตกต่างกันระหว่างเพศ เช่น เมื่อผู้ชายเมาทำร้ายร่างกายภรรยา คนในสังคมจะมองว่าเพราะเขาเมาเลยขาดสติ ในทางกลับกันอย่างเช่นคดีของลันลาเบล สังคมจะมองว่าก็ทำอาชีพแบบนี้ แต่งตัวแบบนี้ใครก็ล่วงละเมิดทางเพศได้ หรืออาจจะมองไปว่าเป็นความผิดของผู้หญิงที่พาตัวเองไปในที่แบบนั้น

“เราต้องกลับมาตั้งคำถามว่าจะลบมายาคติที่มองผู้หญิงที่ดื่มว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี และผู้ชายทำอะไรก็ได้ในร่างกายของผู้หญิงเหล่านี้ ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไรหรือแม้แต่จะมีอาชีพขายบริการทางเพศก็ตาม ถ้าไม่ใช่ในเวลาทำงานของเขาผู้ชายก็ไม่มีสิทธิ์ล่วงละเมิดทางเพศได้

เรื่องนี้ทำให้เราต้องลุกขึ้นมาว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่ต้องลบมายาคติของการดื่มแอลกอฮอล์ที่แตกต่างกันระหว่างหญิงและชาย ผู้บริหารหรือผู้ที่มีอำนาจในบ้านเมืองจะต้องเข้ามาจัดการ ออกกฎหมายคุ้มครองทุกอาชีพ เพื่อให้ผู้หญิงที่มีอาชีพต่างๆ เช่น พริตตี้ มีหลักประกันความมั่นคงในชีวิต นอกจากนี้ผู้ประกอบอาชีพพริตตี้ควรมีพื้นที่และเครือข่ายเพื่อสร้างอำนาจต่อรองเหมือนสหภาพแรงงาน

ในส่วนของครอบครัวควรสั่งสอนลูกหลานที่เป็นผู้ชายว่าคุณไม่มีสิทธิ์ทำร้ายร่างกายใคร ไม่มีสิทธิ์ล่วงละเมิดใคร การให้เกียรติเคารพในเนื้อตัวร่างกายคนอื่นเป็นเรื่องพื้นฐานสำคัญของมนุษย์” น.ส.นัยนากล่าว

ขณะที่ นพ.ธีรยุทธ รุ่งนิรันดร ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตือนว่าการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเสี่ยงต่อการเกิดแอลกอฮอล์เป็นพิษ หากดื่มเกินปริมาณจะส่งผลต่อประสาท การเคลื่อนไหว เสี่ยงต่อการหยุดหายใจ หากพบเห็นใครมีอาการเหล่านี้สิ่งแรกที่ต้องทำคือช่วยเหลือเบื้องต้น โดยการจัดท่านอนตะแคงเพื่อป้องกันการสำลัก รักษาระดับศีรษะและคอให้เท่าๆ กัน ค่อยๆ พลิกตัวให้นอนหงาย เรียกชื่อดังๆ ให้ลืมตากว้าง ลองจิ้มที่ตัวเพื่อดูปฏิกิริยาตอบสนอง มองที่อกหรือท้องเพื่อดูจังหวะการหายใจ หายใจช้าลงหรือติดขัด หากร่างกายไม่ตอบสนองให้ทำซีพีอาร์ แล้วเรียกรถพยาบาลหรือนำส่งโรงพยาบาลใกล้ที่สุด

การใช้แอลกอฮอล์ร่วมกับสารเสพติดส่งผลให้เกิดอาการเมาหมดสติและเสียชีวิตง่ายขึ้น โดยเฉพาะสารเสพติดในกลุ่มยานอนหลับ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน