จับตาบทบาท‘กอ.รมน.’ปมร้อนแก้รธน. : รายงานพิเศษ

ผ่านเลือกตั้งมากว่า 6 เดือนแล้ว หากสถานการณ์การเมือง ร้อนระอุต่อเนื่อง

กรณีกอ.รมน.ภาคส่วน 4 แจ้งจับ 7 แกนนำพรรคฝ่ายค้าน ยิ่งทำให้สถานการณ์ร้อนขึ้นอีก

การกระทำดังกล่าวมีเป้าหมายอะไร จะทำให้สถานการณ์บานปลายหรือไม่ นักวิชาการมีความเห็นต่อประเด็นดังกล่าว

ธนพร ศรียากูล

นายกสมาคมรัฐศาสตร์แห่งม.เกษตรศาสตร์

สิทธิและเสรีภาพในการที่จะแสดงความคิดเห็น โดยสุจริตและไม่ได้ใช้ความรุนแรง เป็นสิทธิที่ได้รับรองตามรัฐธรรมนูญ เวทีของฝ่ายค้านไม่ว่าจะที่จังหวัดไหน ก็ไม่มีอะไรที่จะก่อให้เกิดความรุนแรง และไม่ได้ใช้วิธีการที่จะก่อให้เกิดความรุนแรง

การแสดงความคิดเห็นลักษณะจุดประเด็นให้เกิดการเถียงกัน ถือเป็นเรื่องปกติของสังคมเสรี ซึ่งย่อมมีความแตกต่างหลากหลายทางความคิด การเปิดเวทีให้เถียงกันอาจตรงบ้างไม่ตรงบ้างในสังคมประชาธิปไตย เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนควรส่งเสริมให้เกิดขึ้นด้วยซ้ำไป

การใช้เครื่องมือหรือกฎหมายใดไปปิดกั้นเสรีภาพ ย่อมมองได้ว่าใช้เครื่องมือทางกฎหมายสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวให้สังคม โดยหลักการ กติกา การอยู่ร่วมกันของคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ กฎ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องมีการถกเถียงและนำเสนอกันว่าความคิดเห็นเป็นอย่างไร

อะไรก็ตามที่เป็นกฎหมายที่ทำให้บ้านเมืองอยู่ร่วมกัน ทุกอย่างต้องพูดคุยถกเถียงกันได้ ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดสภาวะว่าใครคนใดคนหนึ่ง หรือคนกลุ่มหนึ่งพูดเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ หรือกฎเกณฑ์ได้ ขณะที่อีกกลุ่มทำไม่ได้

การกล่าวหาว่าทำผิดมาตรา 116 ยุยง ปลุกปั่นนั้น ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีการแจ้งความข้อหานี้เยอะมาก บัดนี้ข้อหาที่แจ้งความไปส่วนใหญ่ก็จะไม่สามารถดำเนินคดีได้ ทำให้มองได้ว่าหน่วยงานที่ไปแจ้งความในคดีนี้ จริงๆ แล้วไม่ได้หวังให้เกิดผลบังคับใช้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย แต่หวังเอาไปเป็นเครื่องมือในการปิดปาก สร้างความหวาดกลัวกับผู้ถูกดำเนินคดีมากกว่า

การแจ้งจับที่เกิดขึ้นพูดอย่างตรงไปตรงมา เป็นการสกัดฝ่ายค้านไม่ให้รณรงค์แก้รัฐธรรมนูญ คงจะมองอย่างอื่นได้ลำบาก ถ้าพูดคำว่ารัฐบาลก็อาจจะดูแคบไป คงใช้คำว่ากลุ่มผู้ที่สนับสนุนรัฐบาลไม่อยากให้มีการแก้ไข

ในส่วนนักวิชาการที่ถูกแจ้งจับไปด้วยนั้น นักวิชาการที่ได้เชิญขึ้นเวทีใดๆ ก็ถูกตรวจสอบได้อยู่แล้ว เพราะการแสดงออกอยู่ในที่เปิดเผยไม่ว่าจะนำเสนออย่างใด ทุกอย่างถูกสังคมตรวจสอบได้ จึงไม่มีความจำเป็นที่หน่วยงานรัฐต้องทำหน้าที่แทนสังคม และปัจจุบันการเข้าถึงข้อมูลก้าวไกล ทำได้ง่ายอยู่แล้ว

เรื่องนี้อาจยิ่งทำให้บานปลายได้ เพราะต่างก็จะฟ้องกลับกันไปมา ทั้งที่ความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติของสังคมประชาธิปไตย และที่สำคัญสิ่งที่เกิดขึ้นเรากำลังไปไกลจากความขัดแย้ง เรากำลังสร้างบรรยากาศแห่งความกลัว

เมื่อไรมีบรรยากาศแห่งความกลัว สิทธิเสรีภาพของเราไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยถูกลิดรอนด้วยกลไกของรัฐ โดยอ้างว่าเพื่อให้เกิดความสงบ ก็อาจยิ่งตอกย้ำความเชื่อของประชาชนว่า การบังคับใช้กฎหมายมีมาตรฐานเดียวกันหรือไม่

ฐิติพล ภักดีวานิช

คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี

การที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แจ้งจับ 12 แกนนำและนักวิชาการ ส่วนตัวมองว่าไม่เหมาะสม เพราะงานเสวนาดังกล่าวเป็นงานวิชาการ สะท้อนให้เห็นว่า กอ.รมน.ยังคงทำหน้าที่ในรูปแบบ คสช.อยู่ ทั้งที่ คสช.หมดไปแล้ว แต่รูปแบบและบทบาทก็ยังไม่หายไป กลายเป็นว่า กอ.รมน.กำลังทำหน้าที่ช่วยรัฐบาลหรือไม่

ทั้งนี้ หลังจากรัฐประหารในปี 57 ไปจนถึงการเลือกตั้งที่ผ่านมา มีการใช้มาตรา 116 เพื่อเอาผิดนิสิต นักศึกษา นักวิชาการไปจนถึงพลเรือนจำนวนมาก ซึ่งไม่สมควร เพราะสิทธิในการแสดงความคิดเห็นหรือแสดงออกทางวิชาการ เป็นสิ่งที่สามารถพูดได้ กระทำได้

กอ.รมน.ไม่ควรเข้ามาก้าวก่ายหรือปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกดังกล่าว ทำให้เห็นว่าประเทศยังไม่เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง เพราะยังคงมีการใช้อำนาจรัฐข่มขู่และปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชนอยู่

ต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ ฝ่ายค้านพยายามรณรงค์ให้มีการแก้ไขอยู่นั้น ถูกตั้งคำถามมากพอสมควรและมีปัญหาหลายอย่างจริงๆ ดังนั้นต้องเปิดให้ทุกฝ่ายสามารถแสดงความคิดเห็นได้

การที่ กอ.รมน.แจ้งความเอาผิดนักการเมืองฝ่ายค้านและนักวิชาการด้วย มาตรา 116 นั้น หากพูดถึงเรื่องความมั่นคงมีหลายประเด็น แต่ครั้งนี้ไม่เข้าองค์ประกอบที่ กอ.รมน.จะดำเนินการเอาผิดกลุ่มคนดังกล่าว

ยืนยันว่าการแสดงออกทางวิชาการเป็นสิ่งที่ ต้องเปิดกว้าง อย่าปิดกั้น แต่สิ่งที่ กอ.รมน.ทำอยู่เป็นการสร้างบรรยากาศความหวาดกลัวให้กับกลุ่มคนที่ถูกตีตราว่า อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาล

และการใช้มาตรา 116 เอาผิดกลุ่ม ที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาล ถือเป็นความพยายามปิดกั้นรวมทั้งพยายามสร้างแรงกดดันฝ่ายค้านที่พยายามรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ โดยใช้กลไกทางกฎหมายเป็นเครื่องมือหรือไม่

กอ.รมน.ไม่อยากให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยหรือ ถึงพยายามใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือควบคุมพลเรือนแบบนี้ ไม่ถูกต้อง

การที่รัฐยังใช้กลไกปิดกั้นเสรีภาพ ไปจนถึงการสร้างข้อจำกัดในการแสดงออกของประชาชน ยิ่งทำให้เห็นว่าความหวังที่จะให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยนั้นลดน้อยลงเรื่อยๆ ถือเป็นความสิ้นหวัง ของการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของไทย

โคทม อารียา

ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล

ความผิดตามมาตรา 116 เป็นข้อหาทางการเมือง แต่แปลกใจว่าทำไมกอ.รมน.ภาค 4 ถึงเป็นผู้มาแจ้งความจับ เพราะผู้แจ้งความจับได้นั้นต้องเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์นั้นๆ

เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของบุคคลธรรมดา ที่จะไปแจ้งถ้าพบเห็นเหตุการณ์กระทำที่กระด้างกระเดื่อง กอ.รมน.ไม่น่าจะมายุ่งเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง

การไปรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญ ฝ่ายค้านจัดหลายพื้นที่ ไม่ใช่เฉพาะในภาคใต้ ก่อนหน้านี้เคยมีเวทีเสวนาเดียวกันที่จ.เชียงใหม่ เป็นเวทีแรกก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไรตามมา คนที่ไปร่วมเสวนาพูดคุยก็ต้องรับผิดชอบในคำพูดของตัวเองอยู่แล้ว

และคนที่พูดอะไรแล้วไปทำให้คนอื่นเสียหาย ถ้ามีคนพบเห็นก็สามารถแจ้งความเอาผิดกันไป แต่จะมาเหมารวมแจ้งจับกันทั้งหมด คิดว่าเป็นเรื่องแปลก ถ้าเอากองทัพมาเล่นการเมืองก็จะดูยังไงๆ อยู่

เวทีที่จัดขึ้นเป็นการพูดคุยเชิงความเห็นทางการเมือง และการแก้รัฐธรรมนูญถ้าความเห็นของเขาไม่ถูกใจกองทัพก็สามารถอธิบายทำความเข้าใจกันได้ ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนความเห็นทางการเมืองอย่างเปิดกว้าง แต่ถ้ามีการหมิ่นประมาทใครก็ต้องให้ผู้เสียหายเป็นคนไปแจ้งความ

ยังไม่เข้าใจว่าการแจ้งความทำไมต้องเป็น กอ.รมน. หรือถ้าบอกว่าในระหว่างการเสวนามีการพาดพิงถึงกอ.รมน.ในทางเสียหายก็สู้ในทางคดีกันต่อไป ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรมากนักในการทำให้เกิดคดีลักษณะนี้

การยกเอาความผิดมาตรา 116 มองว่าเป็นคดีที่เกี่ยวกับการกบฏ กระด้างกระเดื่อง ซึ่งไม่น่าจะมีใช้ในสมัยนี้แล้ว

ถ้ากอ.รมน.แจ้งความไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทางตำรวจก็ต้องพิจารณาเรื่องก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไรหรือไม่ ถือว่าผู้แจ้งความ คือผู้เสียหายคนหนึ่ง บางทีทางตำรวจอาจบอกว่าเรื่องนี้ไม่มีอะไรหรือไม่เข้าข่ายความผิดอะไรเลย หรืออาจจะรับแจ้งและมีหมายเรียกคนที่ถูกกล่าวหามารับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งเรื่องคดีความนั้นมีกระบวนการของเขาอยู่แล้ว

ขอเสนอแนวทางว่าถ้าไม่อยากให้เรื่องนี้บานปลายกองทัพ ควรทำเป็นเรื่องการเมือง และเมื่อเป็นเรื่องการเมืองแล้วก็ให้คนที่ถูกกล่าวหาต่อสู้คดีตามกฎหมายปกติ

พวงทอง ภวัครพันธุ์

รัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ จุฬาฯ

การแจ้งความข้อหาตามมาตรา 116 ของกอ.รมน. ภาค 4 สามารถทำได้ ด้านหนึ่งเป็นมือกฎหมายของกองทัพ แต่กอ.รมน.ที่ภาคใต้มีสถานะและหน้าที่ดูแลความมั่นคงภายใน ประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองผูกโยงไปถึงเรื่องความมั่นคงภายในด้วย กองทัพจึงถือว่าเป็นภารกิจของตัวเอง

ถ้าดูระดับท้องที่ต่างจังหวัด แม่ทัพภาคจะมีอำนาจสูงสุดในเรื่องของความมั่นคงภายใน มีอำนาจเหนือผู้ว่าฯเสียอีก โดยเฉพาะกอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า มีอำนาจมากๆ จากปัญหาความขัดแย้ง 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้เพิ่มอำนาจของกอ.รมน.มากยิ่งขึ้นไปอีก ผนวกกับกฎหมายพิเศษ อีก 3 ฉบับ คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ความมั่นคง และกฎอัยการศึก

การแจ้งความเช่นนี้สามารถทำได้แต่จะมีความชอบธรรมหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะไม่มีความชอบธรรมแน่ในมุมของประชาชนส่วนใหญ่ที่เชื่อว่าทุกคนมีสิทธิเสรีภาพที่จะเสนอความคิดเห็น รวมไปถึงการแก้รัฐธรรมนูญที่ฝ่ายค้านหาเสียงไว้ ทัศนะของนักวิชาการที่พูดบนเวทีเสวนาก็พูดเรื่องนี้มานานแล้ว เมื่อมีการเลือกตั้งและรัฐสภาก็เป็นประเด็นที่ต้องผลักดันต่อเนื่อง

การใช้ข้อหายุยงปลุกปั่นก็ไม่มีความชอบธรรมในสายตาประชาชนส่วนใหญ่ แต่เขาใช้อำนาจที่มีมากมายมหาศาลทำได้ กรณีเช่นนี้ก็เกิดขึ้นมาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา

กอ.รมน. มีอำนาจล้นเหลือมาตลอดตั้งแต่ ก่อนการรัฐประหารปี 2549 แต่ก่อนปี 2549 ความขัดแย้งภายในยังไม่รุนแรง แต่เมื่อความรุนแรงปะทุขึ้นก็มีความพยายามที่จะเพิ่มอำนาจให้กับกอ.รมน. ผ่านพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ พ.ศ.2551

กอ.รมน.ถูกครอบงำโดยกองทัพมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2508 ที่มีการก่อตั้งตำแหน่งหน้าที่เกือบทั้งหมดมาจากคนของกองทัพจนปัจจุบัน แต่อำนาจที่มีเหนือหน่วยงานอื่นทั้งหมดของภาครัฐคือ การประสานงานและสั่งการหน่วยงานอื่นข้ามกระทรวง ทบวง กรม เป็นอำนาจข้ามห้วย โดยเฉพาะช่วงที่มีการประกาศภาวะฉุกเฉินหรือภาวะวิกฤต มีอำนาจเหนือพลเรือน

กอ.รมน.ถูกตั้งขึ้นมาโดยมีจุดมุ่งหมายปราบปรามคอมมิวนิสต์ หลังการต่อสู้กับสงครามคอมมิวนิสต์สิ้นไป กลับมีความพยายามขยายนิยามของคำว่า ‘ความมั่นคง’ ให้กว้างขึ้นไปอีก กลายมาเป็นเรื่อง การต่อสู้กับความยากจน การค้ายาเสพติด ค้ามนุษย์ การป้องกันภัยพิบัติ การรักษาสิ่งแวดล้อม การปกป้องผืนป่าและภัยธรรมชาติ

ไม่ทราบว่าการแจ้งจับได้รับใบสั่งจากใครมาหรือไม่ แต่จะเห็นว่าเป็นงานหลักของเขาช่วงหลังรัฐประหาร ส่วนนายกฯมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารประเทศ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นผอ.รมน.โดยตำแหน่ง ภายใต้อำนาจของเขาเองกลับนำมาจัดการกับพรรคฝ่ายค้าน อาจถือว่าเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนก็ว่าได้

พล.อ.ประยุทธ์ชอบใช้งานกอ.รมน.ในทางการเมืองมาก เช่น ให้กอ.รมน. จัดทำแผนปรองดองแห่งชาติ การปฏิรูปแห่งชาติ ถือว่าพล.อ.ประยุทธ์ ได้ประโยชน์ จาก กอ.รมน. อย่างมาก

หากไม่ตระหนักถึงการแผ่ขยายอำนาจของกอ.รมน. ก็อาจเป็นปัญหาต่อการพัฒนาประชาธิปไตย เพราะอำนาจของทหารก็จะดำรงอยู่ผ่านกอ.รมน.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน