FootNote:ปฏิบัติการของกอ.รมน.ภาค 4 กระทบประยุทธ์กับประชาธิปัตย์

ยิ่ง กอ.รมน. แสดงบทบาทในการต้านการรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มากเพียงใด จะส่งผลสะเทือนไปยังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มากเพียงนั้น

ไม่ว่าจะโดยการหนุนหลังปฏิบัติการ IO ในแบบที่มีคนของตนไปเดินสายยกป้าย

ไม่ว่าจะโดยการสั่งการผ่านเครือข่ายในแต่ละพื้นที่ให้สกัดขัด ขวางการเคลื่อนไหวในแบบจินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ และโดยการไปร้องทุกข์ แจ้งความ กล่าวโทษ

โดยอาศัยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มาเป็นอาวุธ

พรรคร่วมรัฐบาลที่จะมีความอ่อนไหวเป็นพิเศษคือพรรคประชาธิปัตย์ เพราะนี่คือภาระธุระที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องแบกรับ

จำสถานการณ์ก่อนวันที่ 5 มิถุนายนได้หรือไม่

ก่อนวันที่ 5 มิถุนายนมีการเจรจาเพื่อหาทางดึง 53 เสียงจากพรรคประชาธิปัตย์ให้สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

เงื่อนไขหนึ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ใช้ต่อรองในการเข้าร่วมรัฐ บาลคือเงื่อนไขในการแก้ไขเพิ่มเติม”รัฐธรรมนูญ”

ต่อเมื่อได้ยินเสียงโอเคดังผ่านพรรคพลังประชารัฐ

การประชุมรัฐสภาในวันที่ 5 มิถุนายนจึงได้เกิดเสียงขานชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จาก 52 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จะขาดก็เพียง นายชวน หลีกภัย ซึ่งอยู่บนบัลลังก์ประธานเท่านั้น

ปัจจัยนี้เองที่นำไปสู่การกำหนดให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็น 1 ใน 12 นโยบาย”เร่งด่วน”ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงในที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม

กลายเป็น “คำมั่น” กลายเป็น”สัญญา” ที่รัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ไว้กับพรรคประชาธิปัตย์ ให้ไว้กับประชาชน

มาถึงเดือนตุลาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คงยังจำได้

บทบาทของ กอ.รมน.โดย กอ.รมน.ภาค 4 เด่นชัดยิ่งว่ากำลังปฏิบัติการอันขัดต่อ”นโยบาย”ของรัฐบาล

ไม่ว่าโดยทางตรง ไม่ว่าโดยทางอ้อม

ปฏิบัติการเช่นนี้จึงไม่ต่างอะไรไปจาก”หยิกเล็บย่อมเจ็บเนื้อ” เมื่อไม่ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล ย่อมสร้างความหงุดหงิดให้ กับพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์

เพราะพรรคประชาธิปัตย์เป็นสถาบันและเป็นพรรคที่ยึดวินัย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน