FootNote : เมื่อกอ.รมน. เล่นบทคสช. สะท้อนเป้าหมายรัฐบาล

บทบาทของ กอ.รมน.ในการแจ้งความกล่าวโทษ 12 นักการเมืองและนักวิชาการผ่านประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ไม่เพียง เป็นเงาสะท้อนแห่งการฟื้นคืน “คสช.”

หากยังดำเนินไปตามเสียงร้องของหัวใจ และความปรารถนาของบิ๊กคสช.อย่างซื่อสัตย์

เท่ากับเป็นการอ่านใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างทะลุปรุใส เท่ากับเป็นการขานรับต่อความต้องการของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ครบถ้วน

เพราะ 2 ท่านนี้ไม่เคยเห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวเพื่อนำไปสู่ ชการแก้ไขรัฐธรรมนูญเลย ที่ต้องบรรจุเป็นนโยบาย “เร่งด่วน”ก็เนื่องจากอยู่ในภาวะจำยอม

เพราะต้องการ 53 เสียงจากพรรคประชาธิปัตย์

หากใครย้อนไปศึกษาเนื้อหาการอภิปรายโดยละเอียดและครบถ้วนบนเวทีเสวนา ณ ลานวัฒนธรรมปัตตานี เมื่อวันที่ 28 กันยายน ก็จะสัมผัสได้

1 อาจารย์ที่กล่าวถึงมาตรา 1 ก็เสมอเป็นเพียงข้อเสนอในบริบทอันเกี่ยวกับปัญหาภาคใต้ว่าอาจจำเป็นต้องพิจารณา

ขณะเดียวกัน 1 บรรดานักการเมืองจาก 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านมิได้มีใครแสดงความเห็นในประเด็นนี้ เพราะมีความแจ่มชัดว่าจะไม่แตะ

กระนั้น ภายหลังการเสวนาได้มีความพยายามกระพือปมอันเกี่ยวกับมาตรา 1 ในลักษณะขยาย

ดำเนินไปในกระบวนการแห่งปฏิบัติการ IO

จากนั้น กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ก็รับลูกไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษในลักษณะเหวี่ยงแหทั้ง 12 นักการเมือง นักวิชาการ

เป้าหมายแท้จริงก็ล่อนจ้อนว่าต้องการสกัด ขัดขวาง

ลักษณะย้อนแย้งอย่างยิ่งในการเคลื่อนไหวของ กอ.รมน.คือเป็นการเคลื่อนไหวที่ขัดกับแนวนโยบายของรัฐบาล ขัดกับคำมั่นของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ยิ่งกอ.รมน.เล่นบทเดียวกันกับที่ “คสช.”เคยทำ

ยิ่งทำให้สังคมอ่านออกว่าเป้าหมายอย่างแท้จริงของการยุทธ์นี้คือไม่อยากให้มีการเคลื่อนไหวเพื่อนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญ

เท่ากับยอมรับว่า การเคลื่อนไหวนี้เริ่มจุดติดเป็นกระแส

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน