14 ตุลา 2516

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

โดย…น้าชาติ ประชาชื่น

14 ตุลา 2516 – เหตุการณ์ 14 ตุลา 16 เกิดขึ้นได้อย่างไร

คิวเรียส

ตอบ คิวเรียส

14 ตุลา 2516 “วันมหาวิปโยคเป็นเหตุการณ์การเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ประเทศไทย นักศึกษาและประชาชนมากกว่า 5 แสนคนลุกฮือเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลเผด็จการจอมพลถนอม กิตติขจร ทำให้รัฐบาลสั่งใช้กำลังทหารเข้าปราบปราม ผู้ชุมนุมที่มีจำนวนมหาศาล เหตุเกิดระหว่างวันที่ 14 ถึง 15 ตุลาคม ..2516 จนมีผู้เสียชีวิต 77 ราย บาดเจ็บ 857 ราย และสูญหายจำนวนมาก

14 ตุลา 2516

จากมูลเหตุที่สะสมหลายประการ ส่งให้นักศึกษาประชาชนมารวมตัวกัน การประท้วงเริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สู่การเดินขบวนไปตามถนนราชดำเนิน ก่อนรัฐบาลลงมือปราบปรามสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง

ย้อนไป 17 พฤศจิกายน 2514 จอมพลถนอมรัฐประหารตัวเอง สืบทอดอำนาจต่อจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลทหารปกครองประเทศนานเกือบ 15 ปีแล้ว และต่ออายุราชการตนเองในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ทั้งพลเอกประภาส จารุเสถียร ยังได้รับยศจอมพลและตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ประกอบกับข่าวการทุจริตในวงราชการ สร้างความไม่พอใจในหมู่ประชาชน

29 เมษายน 2516 เฮลิคอปเตอร์ในราชการกองทัพบก เกิดอุบัติเหตุตกกลางทุ่งนาที่ .บางเลน .นครปฐม มีผู้เสียชีวิต 6 คน ทั้งพบซากสัตว์จำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นซากกระทิง ล่ามาจากทุ่งใหญ่นเรศวรอันเป็นพื้นที่ป่าสงวน

ต่อมานิสิตนักศึกษาออกหนังสือบันทึกลับจากทุ่งใหญ่จำหน่ายราคา 5 บาท จำนวน 5,000 เล่ม หนังสือขายหมดในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ตามด้วยนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงออกหนังสือมหาวิทยาลัยที่ไม่มีคำตอบเนื้อหาเสียดสีนายกรัฐมนตรี เป็นผลให้อธิการบดีสั่งลบชื่อนักศึกษาแกนนำ 9 คน ทำให้เกิดการประท้วงจนนำไปสู่การชุมนุมระหว่างวันที่ 21-27 มิถุนายน ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ท้ายสุดอธิการบดียอมคืนสถานะนักศึกษาทั้ง 9

วันที่ 6 ตุลาคม 2516 มีบุคคลร่วมลงชื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ทั้งนักวิชาการ นักการเมือง นักคิด นักเขียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน จากนั้น 20 คน นำโดย ธีรยุทธ บุญมี ออกเดินแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญตามสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ

ก่อนจะถูกตำรวจนครบาลเข้าจับกุม 13 คน ตั้งข้อหามั่วสุมชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ตามด้วยข้อหาร้ายแรงว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ห้ามเยี่ยมห้ามประกันเด็ดขาด บุคคลทั้ง 13 ถูกเรียกขานว่าเป็น “13 ขบถรัฐธรรมนูญ

เว็บไซต์ www.silpa-mag.com รายงานไว้ในบทความ “14 ตุลาคม 2516: รัฐบาลทหารใช้กำลังสลายผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย แต่สุดท้ายสิ้นอำนาจว่า การชุมนุมครั้งใหญ่ในเดือนตุลาคม 2516 เกิดขึ้นด้วยความไม่พอใจต่อรัฐบาลเผด็จการจากเหตุสะสมต่างๆ หลายประการ อันสืบเนื่องจากการใช้อำนาจโดยมิชอบ โดยเฉพาะการควบคุมตัว 13 ขบถรัฐธรรมนูญ

ทำให้เกิดการประท้วงเริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วขยายสู่ถนนราชดำเนิน ซึ่งคาดกันว่ามีผู้เข้าร่วมชุมนุมกว่าครึ่งล้าน โดยในคืนวันที่ 13 รัฐบาลให้สัญญาว่าจะทำตามข้อเรียกร้องของ ผู้ชุมนุมและยอมปล่อย 13 ขบถรัฐธรรมนูญ รวมทั้งจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี หลังจากเจรจากลุ่มนักศึกษายังคงชุมนุมต่อไปอีก 1 คืน บางส่วนเข้ายึดกรมประชาสัมพันธ์เพื่อใช้ระบบวิทยุกระจายเสียงของรัฐ

14 ตุลาคม ก่อนเวลาเที่ยงไม่นาน รัฐบาลที่รับปากจะทำตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม ตัดสินใจใช้กำลังสลายฝูงชนจนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 77 ราย และบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน อ้างว่าเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและอธิปไตยของชาติ หลังผู้ชุมนุมพยายามบุกยึดสถานที่ราชการด้วยอาวุธปืนที่ปล้นมาก่อนหน้านั้น

หลังเกิดเหตุรุนแรง จอมพลถนอมประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และอดีตประธานศาลฎีกา ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชดำรัสทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ทรงขอให้ประชาชนชาวไทยร่วมมือกันแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยโดยเร็ว

การออกอากาศของโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจผ่านไปราว 1 ชั่วโมง ทหารเปิดฉากยิงอีกครั้งหลังนักศึกษาพยายามพุ่งรถโดยสารเข้าชนกองบัญชาการตำรวจนครบาล จากนั้นจึงมีการประกาศกฎอัยการศึกในเวลา 22 นาฬิกา

นักศึกษาหลายรายกล่าวว่า พวกเขาได้ยินพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ไม่เชื่อว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาล จึงยังคงชุมนุมต่อไปจนกว่าจะแน่ใจว่าจอมพลถนอมและจอมพลประภาสพ้นจากอำนาจจริงๆ จนกระทั่งวันที่ 15 ตุลาคม จึงมีการประกาศว่า “3 ทรราช” (ถนอม, ประภาส และณรงค์ กิตติขจร บุตรชายถนอม) จากรัฐบาลชุดเดิมได้เดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว เหตุการณ์จึงคลี่คลาย

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน