เสียงสะท้อน-‘บิ๊กแดง’ทอล์กโชว์ : รายงานพิเศษ

เสียงสะท้อน – จากกรณีที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. บรรยายพิเศษหัวข้อ“แผ่นดินของเราในมุมมองด้านความมั่นคง”เมื่อวันที่ 11 ต.ค. ที่กองบัญชาการกองทัพบก โดยเชิญนักเรียน นิสิต นักศึกษา ครู อาจารย์ ผู้นำองค์กร นักศึกษาวิชาทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน ศิลปินดารา สื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศร่วมฟังประมาณ 400-500 คน

เนื้อหากล่าวถึงพวกปลุกคอมมิวนิสต์, ฮ่องเต้ซินโดรมชักศึกเข้าบ้าน, นักการเมืองพบ‘โจชัว หว่อง’แกนนำผู้ชุมนุมในฮ่องกง ใช้ โซเชี่ยลปั่นหัวคนรุ่นใหม่ หวังเลียนแบบฮ่องกง, ใครยกเลิกเกณฑ์ทหาร หนักแผ่นดิน ,ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ปะทุขึ้นสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร และยืนยันไม่ได้ขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญ แต่ห้ามแก้มาตรา 1 ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ เป็นต้น

นักวิชาการ มีความเห็น ดังนี้

สุรชาติ บำรุงสุข

อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

จากการบรรยายของ พล.อ.อภิรัชต์ ชัดเจนว่า

1.เป็นการยืนยันว่าฝ่ายกองทัพจะยังคงมี บทบาทในทางการเมืองต่อไป และมองฝ่ายประชาธิปไตยว่ายังเป็นศัตรูอยู่ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ สะท้อนให้เห็นว่าโอกาสในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยจะยังมีปัญหาอุปสรรค เสียงสะท้อนของ ผบ.ทบ.ไม่ได้เป็นเพียงแค่เสียงของทหารแต่เป็นตัวแทนของปีกอนุรักษนิยม เท่ากับว่าเป็นการดึงการพัฒนาประชาธิปไตยให้หยุดอยู่กับที่

2.การพูดพาดพิงฝ่ายต่างๆ ของ ผบ.ทบ.นั้น มองว่าไม่เป็นผลดีกับกองทัพ เพราะหลังการเลือกตั้งกองทัพควรจะต้องลดบทบาทออกจากฝ่ายการเมืองลง แต่ภายหลังการเลือกตั้งในช่วงเดือน มี.ค.2562 กลับไม่มีสัญญาณว่ากองทัพจะลดบทบาทลง ดังนั้นจะทำให้การเมืองยุ่งยากมากยิ่งขึ้น

3.ปัญหาในพื้นที่ภาคใต้ถือว่ามีความซับซ้อน ในตัวเอง จึงอยากเห็นฝ่ายผู้นำมีการเรียกร้องให้ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นร่วมกันเพื่อหาทางออก ไม่ใช่ไปชี้ว่าคนอื่นไม่เข้าใจ มีแค่ตัวเองฝ่ายเดียวที่เข้าใจเท่านั้น แบบนี้ไม่ถูกต้อง

4.การแสดงท่าทีของ ผบ.ทบ.ต่อปัญหาทางการเมือง โดยไปชี้ว่าฝ่ายนั้น ฝ่ายนี้มีปัญหาถือเป็นเรื่องที่ไม่ดี ไม่เหมาะสม เพราะการเลือกตั้งควรเป็นโอกาสที่จะได้สร้างบรรยากาศความปรองดองสมานฉันท์ แต่กลายเป็นว่าโอกาสที่จะสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในระยะยาวส่อเค้ามี ปัญหา

5.จากที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดชี้ให้เห็นว่าปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นจะยังคงอยู่ในสังคมไทย และจะยิ่งฝังลึกอยู่ต่อไป

ในส่วนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ ผบ.ทบ.พยายามขยายความการแก้ไขมาตรา 1 ทั้งที่ฝ่ายค้านพูดชัดเจนว่าไม่แตะต้อง ไม่แก้ไขนั้น มองว่าการแก้ไขกฎหมายเป็นเรื่องปกติ การแสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวไม่มีทางที่จะมีข้อยุติในช่วงเวลาอัน ใกล้นี้ เป็นเพียงการเสนอแนะ ซึ่งเชื่อว่าต้องใช้เวลาอีกนาน

ดังนั้นจึงไม่ใช่อะไรที่ฝ่ายความมั่นคงจะต้องไปกลัวหรือกระโดดโลดเต้นกับเรื่องนี้

ส่วนที่มีการพาดพิงไปถึงนักการเมืองที่ไปพบ กับนายโจชัว หว่อง และมีความพยายามในการขยายความว่ามีการวางแผนอะไรหรือไม่นั้น คิดว่าในการเลือกตั้ง พรรคการเมืองมีสิทธิ์ที่จะนำเสนอนโยบายที่ดีที่สุดในสายตาของเขา สำหรับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับฮ่องกงนั้น ต้องยอมรับว่าประเทศไทยไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะต้องทำอะไรตามรัฐบาลจีน ผู้นำต้องตระหนักว่าประเทศไทยไม่ใช่รัฐในอารักขาของจีน

ภายหลังการบรรยายของ ผบ.ทบ.ใน ครั้งนี้ถือเป็นการส่งสัญญาณเดียวว่าความขัดแย้งที่คิดว่าจะคลายตัวลง คงไม่มีทางที่จะคลายตัวลงได้ และกองทัพจะยังคงอยู่ในการเมืองอย่างมากต่อไป

นพพร ขุนค้า

อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์

และสังคมศาสตร์ มรภ.ราชนครินทร์

ข้าราชการทหารต้องอยู่ภายใต้และสนองนโยบาย ของคณะรัฐมนตรี แต่การพูดในลักษณะชี้นำการเมือง หรือระบุว่ามีการกระทำของคนบางกลุ่มเพื่อปลุกปั่นแบบต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง จึงมองว่าผบ.ทบ.วางบทบาทไม่ค่อยจะถูกต้อง เข้าใจว่าอาจจะหลงบทบาทของตนเองบ้างก็เป็นได้

ประเทศไทยถ้าไม่สามารถแยกกองทัพกับการเมือง ได้ การพัฒนาประชาธิปไตยกับสถานการณ์การเมืองคงลำบาก ถ้ายังมีทัศนคติที่ว่าทหารต้องมายุ่งกับการเมือง เพราะถ้าประชาชนทะเลาะกันแล้ว หากทหารไม่ออกมาก็แก้ปัญหาไม่ได้ ถ้าคิดเช่นนี้จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย

ผบ.ทบ.ควรอยู่ในจุดของตัวเองคือความเป็น ข้าราชการ และทำบทบาทหน้าที่ของตนเองในการรักษาความมั่นคงของประเทศ หรืองานบริการสาธารณะที่ควรทำได้จะดีกว่า การมาชี้นำทางการเมืองแบบนี้จะกลายเป็นว่ามาปลุกเร้ามากกว่า ซึ่งไม่มีประโยชน์กับใคร และการบรรยายในลักษณะนี้ถ้าจะพูดควรพูดเรื่องกองทัพ หรืองานด้านบริการสาธารณะดีกว่า

เนื้อหาของการบรรยายครั้งนี้ตามหัวข้อเป็น เรื่องของความมั่นคง แต่มีเนื้อหาเรื่องการเมืองแทบจะมากกว่าเนื้อหาความมั่นคง เรียกได้ว่าเป็นการพูดไม่ตรงปก ซึ่งพยายามจะชี้นำการเมืองและยิ่งอยู่ในช่วงสถานการณ์แบบนี้ คือรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ต้องไม่ลืมว่าผบ.ทบ. ไม่ได้มีเพียงตำแหน่งเดียว แต่ท่านยังเป็นส.ว.ด้วย ซึ่งถ้าพูดตามหัวข้อที่ได้ระบุไว้คือเรื่องความมั่นคง ก็ยังอยู่ในบริบทหน้าที่ แต่พอมาปลุกเร้าทางการเมือง มองเห็นได้เลยว่าทหารยังมีบทบาทสำคัญทางการเมืองไทยมากๆ

ผบ.ทบ.ต้องวางตนเป็นกลางทางการเมือง ต้องดำเนินการตามนโยบายที่รัฐบาลสั่งการมา แต่การที่ออกมาเช่นนี้หรือพูดในลักษณะเหน็บแนมฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล มีความชัดเจนว่ากองทัพอยู่เคียงข้างรัฐบาลเกินกว่าเหตุ ซึ่งกองทัพต้องเคารพความเห็นต่างของประชาชน แต่ถ้าผบ.ทบ.จะให้ข้อคิดต้องมองว่าความเห็นต่างเป็นสิ่งที่สร้างสรรค์ อย่าให้ความเห็นต่างลุกลามไปถึงความไม่สงบเรียบร้อยของประเทศ แต่กลายเป็นว่าการพูดออกแนวข่มขู่คุกคามมากเกินไปทำให้รู้ได้ชัดเจนว่าท่าน อยู่ฝ่ายไหน

ส่วนการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 1 ฝ่ายค้านได้ระบุว่าจะไม่แตะ แต่กองทัพไปรับรองการกระทำของกอ.รมน.ที่ฟ้องแกนนำพรรคฝ่ายค้านและนักวิชาการ ที่เปิดเวทีเสวนา พลวัตแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่ ที่จ.ปัตตานี จะกลายเป็นการสร้างความแตกแยก ยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนเกิดการเกลียดชังกันมากกว่า

ต้องเข้าใจว่านักวิชาการพูดในส่วนที่เป็น ความเห็นทางวิชาการถึงการกระจายอำนาจ แต่พอไปแตะเรื่องมาตรา 1 ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องรัฐเดี่ยว กลายเป็นว่าไปมองเรื่องความมั่นคง เรื่องการปลุกปั่น มองเป็นประเด็นทางการเมือง ซึ่งไม่ถูกต้อง เท่าที่ดูเทปการบรรยายของ นักวิชาการ ทุกคนสามารถพูดได้เพราะมีความเป็นอิสระทางวิชาการ

สิ่งที่ผบ.ทบ.พูดนั้นเป็นการชี้นำปลุกระดม ได้ ทำให้เข้าใจว่ามีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งพยายามก่อให้เกิดความไม่มั่นคงในประเทศ อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดบางส่วนในสังคมจนนำไปสู่การสร้างความรังเกียจใน ชาติได้ ต้องเข้าใจว่าสังคมไทยทุกวันนี้เป็นจุดบอบบาง แตกแยกกันเป็นสองฝ่ายอยู่แล้ว

ยิ่งผบ.ทบ.มาพูดเสริมเช่นนี้ยิ่งจะทำให้ความเห็นต่างนั้นต่างไปมากกว่าเดิม เกิดความรังเกียจกันมากกว่าเดิม

ธนพร ศรียากูล

นายกสมาคมรัฐศาสตร์

แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

กรณีพล.อ.อภิรัชต์ บรรยายพิเศษเป็นการสื่อสารในเนื้อหาสาระแบบเดิมๆ ว่าวันนี้มีคนที่ไม่รักชาติ ไม่รักแผ่นดิน หรือไม่หวังดีต่อประเทศชาติ ซึ่งไม่ใช่ประเด็นใหม่

ส่วนเหตุผลที่ผบ.ทบ.ออกมาพูด คงเป็นการยกเอาเรื่องนั้นเรื่องนี้มาปะติดปะต่อกัน เป็นการคาดการณ์ทั้งสิ้น โดยที่ไม่มี น้ำหนักทางวิชาการใดๆ ที่จะทำให้สังคมรู้สึกว่าน่าเชื่อถือ

เหตุการณ์ตอนนี้คล้ายกับช่วงปี 2553-2554 ที่มีการนำเสนอผังบางอย่างต่อสังคมไทย ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นปัจจุบันนี้คล้ายๆกัน จึงเห็นว่าไม่มีอะไรเป็นเรื่องใหม่ ท่าทีของผบ.ทบ.เป็นการส่งสัญญาณไปยังฝ่ายตรงข้าม เพียงแต่สาระที่สื่อสารออกมามีคุณภาพไม่เพียงพอที่จะทำให้สังคมคล้อยตาม

ผบ.ทบ.พูดชัดว่า กองทัพเป็นกลไกของรัฐบาล จึงมีหน้าที่ในการตอบโต้ฝ่ายที่ไม่ใช่รัฐบาล ท่านประกาศตัวชัดเจนว่าทำหน้าที่ฝ่ายรัฐบาล ท่านไม่ได้บอกว่ากองทัพเป็นกลไกรัฐ ถ้าท่านเป็นกลไกรัฐ การบรรยายแบบนี้จะไม่เกิดขึ้น ในเมื่อท่านประกาศตัวชัดเจน ท่านก็ต้องทำหน้าที่ปกป้องรัฐบาล แต่คำถามคือกองทัพได้ทำหน้าที่ปกป้องรัฐบาลทุกรัฐบาลอย่างเท่าเทียมกันหรือ ไม่

ส่วนการที่ผบ.ทบ.พูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 ผมขอพูดตรงๆ ว่าเท่าที่ฟังนักวิชาการพูดเรื่องดังกล่าว ท่านเพียงแต่ยกตัวอย่างว่าถ้ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรจะพูดคุยกันได้ในทุกมาตรา เจตนาท่านเป็นแบบนั้น แต่พอเหตุการณ์บานปลาย กองทัพและฝ่ายค้าน ล้วนแต่เอาไปบิดเบือนเจตนาของนักวิชาการท่านนั้น

ฝ่ายค้านบอกว่าตัวเองไม่เคยพูดเรื่องมาตรา 1 และมาตรา 2 ซึ่งผมมองว่าเป็นการเอาตัวรอด ขณะที่รัฐบาลก็เอาไปขยายผล กองทัพนำมาขยายความ ซึ่งคงไม่แปลกเพราะเขาประกาศตัวแล้วว่าหากใครอยู่ฝั่งตรงข้ามรัฐบาลก็เป็น ศัตรูของกองทัพ

คำพูดที่ดุเดือดไม่ใช่สิ่งสำคัญเท่ากับ เนื้อหาที่หนักแน่น นักการเมืองก็มีคำพูดที่ดุเดือด แต่วันนี้สังคมไทยให้ความสำคัญในเรื่องของความหนักแน่น และความน่าเชื่อถือที่มีเหตุผล หากเป็นคำพูดที่ดุเดือดอย่างเดียวพอเวลาผ่านไปไม่กี่วัน ก็ต้องหาคำพูดใหม่มาพูดกับสังคมไทย ซึ่งปัจจุบันสังคมไทยมีคุณภาพมากพอ

เชื่อว่าจากการที่ผบ.ทบ.พูดในครั้งนี้คงไม่มีอะไร นอกจากแฟนคลับของกองทัพอาจจะรู้สึกดีที่ได้เห็นท่าทีเป็นแบบนี้ก็เท่านั้น

ธเนศร์ เจริญเมือง

อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความเห็นต่างกัน ในเรื่องระบบการเมืองการปกครอง ฉะนั้นโดยมารยาทของการปกครองที่มีการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย ข้าราชการไม่ควรออกมาพูดแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการระดับสูง หรือระดับล่าง ควรสงบถ้อยคำในความเห็นต่าง

เสียงสะท้อน-‘บิ๊กแดง’ทอล์กโชว์ : รายงานพิเศษ

การที่ผู้นำกองทัพออกมาพูดแบบนี้สะท้อนให้ เห็นถึงความคิดเดิมๆ คือเรายังมีความเห็นที่ขัดแย้งกัน นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผบ.ทบ.พูด แต่ที่ผ่านมาพูดมาหลายครั้งแล้ว นั่นแสดงว่าเมื่อข้าราชการระดับสูงพูดแบบนี้แล้วไม่เคยถูกลงโทษ หรือจะมีคนเห็นด้วย ซึ่งนักการเมืองของไทยก็มาจากกึ่งการเลือกตั้ง ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด จึงทำให้ปัญหาเพิ่มมากขึ้น

การพูดของผบ.ทบ.ครั้งนี้ มองว่าน่าจะส่งสารไปถึงใครบางกลุ่มได้รู้ว่าท่านคิดอะไร แล้วอยากให้สังคมไทยไปในทางไหน นั่นเป็นการแสดงออกทางความคิดของอีกฟากหนึ่ง ที่เป็นการแสดงออกอย่างเสรี เป็นการสร้างความสดชื่นให้กับความมั่นคง ถ้าจะพูดอีกอย่างหนึ่งคือความคิดฟากอนุรักษนิยม

การบรรยายดุเดือดเช่นนี้ นักการเมืองคงจะทยอยกันออกมาให้ความคิดเห็นกันอย่างมาก ซึ่งเป็นการเพิ่มอุณหภูมิทางการเมืองให้ร้อนแรงยิ่งขึ้น

ประการต่อมา หากมองในทางบวกเราจะเห็นสัญญาณที่ดีของสังคมประชาธิปไตยที่ใครจะออกความเห็น อะไรก็ได้เต็มที่เลย เพียงแต่จะมีข้อห่วงใยเล็กน้อยคือเวลาฝ่ายที่ออกมาวิจารณ์ มักจะถูกตำหนิเสมอ แต่ฝ่ายปกป้องจะไม่ค่อยถูกใครตำหนิ กลายเป็นเรื่องดี คนดี เป็นคนรักชาติ

ขณะเดียวกัน ความเห็นของอีกฝั่งก็กลายเป็นถูกว่า ตำหนิ ไม่รักชาติ เราจะเห็นทั้งด้านบวกและด้านลบอย่างชัดเจน

การบรรยายในครั้งนี้น่าจะเป็นการปรามว่า อย่านะ อย่าไปคิดอะไรแบบนั้น แต่ที่ไกลไปกว่านั้นเพราะเป็นการปรามความเห็นที่แตกต่างหมดเลย ซึ่งบรรยากาศแบบนี้ทำให้ไม่เอื้อกับการเป็นประชาธิปไตยสักเท่าไหร่

การมีบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยที่ดี คือต้องเคารพความคิดเห็นซึ่งกันและกัน

ในเมื่อตัวท่านเองมีความคิดเห็นที่แสดงออก ได้ ท่านเป็นผู้ถืออาวุธ มีอำนาจในการสั่งการกองทัพด้วย ยิ่งทำให้สถานการณ์ไม่ปกติ จึงน่าจะทำให้เกิดการโต้แย้งทางความคิดมากขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน