เป้าจริงฝ่ายค้าน อยู่ที่แก้ไขรธน. รายงาน

เป้าจริงฝ่ายค้าน การอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563

บรรยากาศโดยรวมเข้มข้น แต่ไม่ได้รุนแรงดุเดือด

ข้อตกลงในการจัดแบ่งเวลา 3 วันให้ฝ่ายค้านและรัฐบาลได้อภิปรายฝ่ายละ 18 ชั่วโมง ตามที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ระบุถือเป็นช่วง เวลานานที่สุดเท่าที่สภาเคยพิจารณา ร่างพ.ร.บ.งบประมาณ วาระแรกในชั้นรับหลักการ

เหตุที่ครั้งนี้ใช้เวลามากเป็นพิเศษ เนื่องจากสภาผู้แทนฯ ไทยว่างเว้นการ อภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ มานาน 6 ปีเต็ม

ครั้งสุดท้ายในเดือนพฤษภาคม 2556 สมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก่อนที่อีก 1 ปีต่อมารัฐบาลจะถูกโค่นล้มโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.

ในยุคสมัยรัฐบาล คสช.ที่เข้ามาโดยการทำรัฐประหาร ร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ได้รับการพิจารณาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือสนช. ซึ่งทำหน้าที่แทนสภา ผู้แทนฯ และวุฒิสภา

ด้วยความที่ สนช.ทั้ง 250 คนมาจากการแต่งตั้งของ คสช. การทำหน้าที่พิจารณาผ่านร่างกฎหมายต่างๆ หลายร้อยฉบับในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาจึงถูกตั้งคำถามอย่างหนักว่า เป็นไปตามพิมพ์เขียวผู้มีอำนาจหรือไม่

ในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 62 วงเงิน 3 ล้านล้าน สนช.ใช้เวลาพิจารณาแค่ 3 ชั่วโมง ก่อนเห็นชอบด้วยมติเอกฉันท์ โดยมีสมาชิก สนช.อภิปรายให้ความเห็นไม่ถึง 5 คน

สำหรับโครงสร้างร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 63 ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ แถลงนำเสนอวงเงิน 3.2 ล้านล้าน ปรับเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อน 2 แสนล้านบาท เป็นงบแบบขาดดุล 4.69 แสนล้านบาท แบ่งตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบฯ 6 ด้าน กับอีก 1 รายการ คือ งบกลาง จำนวน 5.18 แสนล้านบาท

สำหรับบทบาทฝ่ายค้านในการชำแหละร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ครั้งนี้

พรรคเสรีรวมไทยประกาศกลางสภา ไม่ขอยุ่งเกี่ยวเนื่องจากเห็นว่าร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 63 จัดทำขึ้นโดยรัฐบาลที่ไม่ถูกต้องสมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ การแถลงนโยบายก็ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องชี้แจงที่มารายได้ ร่างพ.ร.บ.งบ ประมาณฯ นี้ จึงถือเป็นผลไม้พิษ

ขณะที่นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ แกนนำพรรคเศรษฐกิจใหม่ ไม่ได้ร่วมทีมอภิปรายครั้งนี้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากต้องการรออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเท่านั้น ซึ่งเป็นเหตุผลที่นายมิ่งขวัญให้ไว้กับพรรคแกนนำฝ่ายค้าน

ส่วนจะมีเบื้องหลังเบื้องลึกอื่นหรือไม่ ไม่ปรากฏเป็นข่าว

บทบาทหลักๆ ของฝ่ายค้านจึงอยู่ที่พรรคแกนนำอย่างเพื่อไทยและอนาคตใหม่ โดยมีพรรคประชาชาติอภิปรายแซมในบางประเด็น

เนื้อหาภาพรวมเป็นตามกรอบที่วางไว้

พรรคเพื่อไทยตั้งคำถามท้วงติง 3-4 ประเด็นหลักคือ

การใช้งบไม่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ ประชาชน การเน้นทุ่มงบด้านความมั่นคง แต่กลับลดในส่วนของการแก้ไขเศรษฐกิจ ทำให้ไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหาประเทศได้สูงสุด รวมถึงการใช้งบไม่ถูกต้องตามระเบียบ บางจุดไม่โปร่งใส

ที่เน้นหนักเป็นพิเศษคือเรื่องของ “งบกลาง” ภายใต้อำนาจจับจ่ายของนายกรัฐมนตรีซึ่งตั้งไว้สูงถึง 5 แสนกว่าล้านบาท เสมือนกับการตีเช็คเปล่า ด้วยจำนวนเงินงบประมาณสูงสุดเท่าที่เคยมีมา

ก่อนสรุปรวบยอดว่า รัฐบาลควรกลับไปจัดทำร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ มาใหม่ เพราะที่ทำมาไม่สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ ทั้งยังสวนทางกับนโยบายรัฐบาลตามที่ได้เคยประกาศไว้ต่อสาธารณชน

ส่วนพรรคอนาคตใหม่อภิปรายชี้ให้เห็นว่าร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ 2563 ไม่ตอบโจทย์ปัญหาประเทศ

ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตเศรษฐกิจฐานรากที่ต้อง แก้ไข เร่งด่วน การเป็นรัฐราชการรวมศูนย์ที่ไม่ตอบสนองประชาชน ความเหลื่อมล้ำที่ประชาชนไม่มีความมั่นคงในชีวิต ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่คุ้มค่า ไม่เห็นประโยชน์ชัดเจน

ก่อนสรุปแยกย่อยเป็น 8 เหตุผล ไม่ควรรับร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ฉบับนี้

ในการอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ท่าทีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม เป็นสิ่งสำคัญทำให้บรรยากาศการประชุมสภาไม่ดุเดือดร้อนแรงอย่างที่หลายคนคาด การณ์ไว้ล่วงหน้า มีทั้ง มุขตลกและมุขออดอ้อน ขอให้สมาชิกสภาสนับสนุนผ่านร่างงบประมาณฯ

พล.อ.ประยุทธ์ชี้แจงร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ผ่านการพิจารณาจัดทำมาแล้วอย่างรอบคอบทั้งจากคณะรัฐมนตรี สำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับวงเงิน 3.2 ล้านล้านก็เป็นตัวเลขที่ปรับลดลงมาแล้ว จากที่ทุกกระทรวง ทบวง กรมทั้งหมดเสนอขอมารวมกันสูงถึง 5-6 ล้านล้านบาท

ทั้งยืนยันรัฐบาลพร้อมเปิดกว้างรับฟังข้อ เสนอแนะ และข้อท้วงติงฝ่ายค้าน เพื่อเก็บเป็นข้อมูลนำไปปรับปรุงการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ วาระ 2 ในชั้น แปรญัตติ ซึ่งจะมีตัวแทน 3 ฝ่าย คือ คณะรัฐมนตรี ส.ส.รัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้านร่วมเป็นกรรมาธิการ

อย่างไรก็ตาม หากไม่เกิดเหตุพลิกผันร้ายแรงในช่วงวินาทีสุดท้าย ก็เชื่อว่าร่างพ.ร.บ.งบ ประมาณฯ ปี 63 จะผ่านสภาวาระแรกไปได้ เนื่องจากรัฐบาลมีความมั่นใจว่าสามารถบริหารจัดการเสียงปริ่มน้ำในมือไม่ให้ กระฉอก

แกนนำฝ่ายค้านอย่างเพื่อไทยก็ยืนยัน ไม่ต้องการล้มรัฐบาลโดยนำเรื่องงบประมาณมาเป็นเกมการเมือง

เพราะต่อให้ร่างพ.ร.บ.ไม่ผ่านสภาก็เชื่อว่าจะไม่มีการแสดงความรับผิดชอบใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการลาออก หรือยุบสภา

เมื่อเป็นเช่นนั้นรัฐบาลก็ยังสามารถเสนอ ร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่เข้ามาภายใน 1-2 เดือน ระหว่างนั้นก็สามารถเบิกจ่ายงบประมาณที่จำเป็นล่วงหน้าได้

แต่ส่วนที่จะได้รับผลกระทบหนักกว่าคือ ประชาชนทั้งประเทศ

ขณะที่อนาคตใหม่ พรรคฝ่ายค้านอันดับ 2 ไม่ได้แสดงท่าทีชัดเจนล่วงหน้าเหมือนเพื่อไทยว่าจะงดออกเสียง

หรือลงมติไม่รับร่าง เหมือนที่ลงมติ ไม่เห็นด้วยกับพ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ.2562 ตามที่รัฐบาลเป็น ผู้เสนอ จนสังคมฮือฮามาแล้ว

ส่วนที่ว่าหากรัฐบาลสามารถผนึกกำลัง 18 พรรค 254 เสียง ผลักดันร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ผ่านสภาวาระแรกเป็นผลสำเร็จ ในจังหวะเดียวกันซีกพรรคร่วมฝ่ายค้าน 7 พรรคจะปรากฏเงาร่างของส.ส.งูเห่าขึ้นหรือไม่ เป็นเรื่องน่าจับตาเช่นกัน

หากดูจากรูปเกมการเมืองที่ผ่านมา ไล่มาตั้งแต่การอภิปรายการแถลงนโยบายรัฐบาลเมื่อเดือนกรกฎาคม ตามด้วยญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 เมื่อเดือนกันยายน เกี่ยวกับกรณีถวายสัตย์

จนมาถึงการอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ เดือนตุลาคม เชื่อว่าฝ่ายค้านเองก็ยังไม่ต้องการให้ นายกฯ ยุบสภาตอนนี้ จนกว่าจะได้ยื่นญัตติ เปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นหลังเปิดประชุมสภาสมัยหน้าเดือนพฤศจิกายน

กับอีกเหตุผลสำคัญ ที่พรรคฝ่ายค้านยังไม่พร้อมสำหรับการเลือกตั้งใหม่

เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ดีไซน์มาเพื่อให้บางคนได้สืบทอดอำนาจ ยังไม่ได้รับการแก้ไข

แม้จะมีการยื่นญัตติตั้งกรรมาธิการเพื่อนำไปสู่การแก้ไขแล้ว เส้นทางความสำเร็จก็ยังอีกหลายขั้นตอน ต้องใช้เวลา

หากยุบสภาเลือกตั้งใหม่ตอนนี้ภายใต้ รัฐธรรมนูญฉบับเดิม รวมถึงองค์ประกอบเดิมๆ อาทิ กกต. ปลายทางการเลือกตั้งก็จะวนกลับสู่จุดเดิม ไม่แตกต่างไปจากหลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคมที่ผ่านมา

หากจะเปลี่ยนก็แค่จาก “ประยุทธ์ 2” ไปเป็น “ประยุทธ์ 3” เท่านั้นเอง

รายงาน-20ตค62.tif

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน