#ควาย

คอลัมน์ ใบตองแห้ง

#ควาย – “ควาย” เมื่อนำมาใช้เหยียดหยามกันทางการเมือง สันนิษฐานได้ว่าใช้โดยคนชั้นกลางในเมือง ไม่ใช่คนชนบท ซึ่งผูกพันกับควาย รู้ว่าควายไม่โง่ ก็แค่ธรรมชาติของมัน บางครั้งคนเมืองโง่กว่า

การเรียกคนว่าควาย เข้าข่าย Hate Speech จงใจลดคุณค่า ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่นที่ด่า “ควายแดง” (ในอดีต) ก็เพื่อเหยียดเสื้อแดงว่าโง่ ถูกซื้อ ไม่ควรมีสิทธิเท่าเทียม “หนึ่งคนหนึ่งเสียง” นับเป็นเสียงข้างมากไม่ได้ ฉะนั้นจึงไม่ยอมรับการเลือกตั้ง

แต่กลับกัน ถ้าใช้กับคนมีอำนาจ คนที่สังคมไม่พอใจ แต่ทำอะไรไม่ได้ มันก็เป็นสัญลักษณ์ของการท้าทายอำนาจ การต่อต้านไม่ให้ใช้อำนาจเกินเลย ด้วยการเหยียดว่า ระดับสติปัญญาแค่นี้หรือ จะมาควบคุมสังคม

ทำนองเดียวกับการเย้ยหยันผู้นำเผด็จการเป็นตัวตลก ไร้ความสามารถ ไม่เชื่อถือศรัทธา

อ๊ะอ๊ะ นี่ไม่ได้พูดถึงตัวบุคคล แค่ชวนคิดว่า ผู้นำประเทศ ผู้นำองค์กรสำคัญของรัฐ นับแต่อดีต ไม่ว่าผู้นำในระบอบเผด็จการหรือประชาธิปไตย จำเป็นต้องมีระดับสติปัญญา เป็นที่ยอมรับของประชาชน หรือไม่ก็รู้จักใช้คนฉลาดมีความสามารถ แบบยุคพลเอกเปรม

ประเทศไทยนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ก็ขับเคลื่อนด้วยทหาร ข้าราชการ เพียงแต่ทหารยุคนั้น พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ ชี้ว่า “เป็นกลุ่มคนที่หัวก้าวหน้าที่สุดในสังคมไทย” เพราะในรัชสมัย ร.5 สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ ซึ่งทรงเป็นทั้งผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อย ได้เปลี่ยนระบบการศึกษาจากท่องจำ มาเป็นการคิดค้นเหตุผล

แม้พ้นยุคคณะราษฎร มาสู่ยุค จอมพล ป. ยุคเผด็จการสฤษดิ์-ถนอม ซึ่งรัฐราชการแปลงร่างเป็น “เจ้าคนนายคน” ก็ยังไม่ขาดแคลนคนดีคนเก่ง จนยุครุ่งเรืองของเทคโนแครต สมัยเปรมครึ่งใบ แต่ช่วงนั้นเองเศรษฐกิจไทยก็เปลี่ยน “โชติช่วงชัชวาล” ญี่ปุ่นย้ายฐานการลงทุน

คนดีคนเก่งมีเอกชนจองตัว ไม่สอบเข้าราชการอีกต่อไป จนหลังวิกฤต 40 จึงกลับมาใหม่ สมัยทักษิณเปิดฟาสต์แทร็ก บังเอิญเสียกระไร ข้าราชการยุคที่ไม่มีใครอยากเป็น จะขึ้นมาเป็นใหญ่ในช่วงนี้พอดี

ทหารไทยยุคครึ่งใบใครว่าไร้สมอง ไม่งั้นจะมีบิ๊กจิ๋วฉายาขงเบ้งหรือ บิ๊กจ๊อดดูกร้าว แต่ก็กว้างขวางได้ใจคน จปร.5 จปร.7 ผ่านทั้งสนามรบจริง สนามการเมือง สงครามเย็น การพลิกผันทางยุทธศาสตร์ จนนำมาสู่ 66/23 การเมืองนำการทหาร

แต่หลังพฤษภา 35 ทหารก็ถอยไปจากการเมือง ปิดตัวเองจากโลกภายนอก ก่อนกลับมาใหม่ปี 49-57 แบบขาดช่วงประวัติศาสตร์ ไม่เคยรับรู้บทเรียนยุคเดิม

ขณะที่การเมืองเศรษฐกิจก็เปลี่ยนไป สังคมไทยต้องการผู้นำที่เก่งขึ้น พ้นยุคเปรมและเทคโนแครต ก็เป็นน้าชาติกับทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก รสช.รัฐประหาร ก็ยังเอาอานันท์มาเป็นนายกฯ โชว์ฝีมือนักบริหารธุรกิจสมัยใหม่ เปิดเสรีทางเศรษฐกิจ ชวน หลีกภัย ผู้มาทีหลัง จึงโชคร้ายกลายเป็นปลัดประเทศ กระทั่งแพ้ย่อยยับให้กับอัศวินคลื่นลูกที่สาม

หลังรัฐประหาร 49 คุณภาพผู้นำกลับด้อยลง หรือถูกบดบังด้วยวิกฤต ปัดโธ่ แม้แต่พรรคเพื่อไทยก็ต้องยอมรับว่ายิ่งลักษณ์ห่างชั้นทักษิณ สนามการเมืองก็กลายเป็นเวทีฟาดฟัน คนมีคุณภาพ คนมีความตั้งใจ ไม่อยากโดดลงสนาม “การเมืองสกปรก”

รัฐประหาร 57 ประยุทธ์อยู่นาน 5 ปี เพราะความเก่งหรือเพราะประเทศอับจน? สืบทอดอำนาจด้วยกติกาที่เขียนไว้ให้ตัวเอง ตั้งพรรคกวาดต้อนนักการเมืองเก่า ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในยุค disruption รัฐราชการอนุรักษนิยม ที่ถดถอยด้อยปัญญา กับนักการเมืองเก่า ที่บ้างก็ขุดมาตั้งแต่ก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 จะนำประเทศไปรอดหรือ

ในทางตรงกันข้าม ในสถานการณ์การเมือง 2 ขั้ว ขั้วเสรีประชาธิปไตยกลับเกิดพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งได้ใจคนจำนวนมากในช่วงเวลาสั้นๆ ไม่เฉพาะจุดยืนทางการเมือง แต่แกนนำและสมาชิกยังแสดงภูมิปัญญาความสามารถ ของคนรุ่นใหม่ที่มีหลากหลาย

พูดเช่นนี้ไม่ได้ดูแคลนเพื่อไทย แต่นี่คือการปรับตัวรับฐานมวลชนที่ต่างกัน ซึ่งตรงกันข้าม ขั้วอนุรักษนิยมกลับไม่มีพรรคการเมืองใหม่ที่ได้ใจคน ไม่มีพรรคในอุดมคติ แบบคุณธรรมใสสะอาด ชูรักชาติรักแผ่นดินแล้วชนะถล่มทลาย (พรรคลุงกำนันไง)

ไม่แปลกใจอะไร วันหนึ่งพรรคอนาคตใหม่ ธนาธร ปิยบุตร คงถูกทำลาย แต่ฝ่ายอนุรักษนิยมก็ไม่สามารถช่วงชิงคนได้ ใช้อะไรล่ะ กระทรวงวัฒนธรรม การฝึก ร.ด. การจัดตั้งมวลชนของกองทัพ?

วัฒนธรรม ภูมิปัญญา ของฝ่ายอนุรักษนิยมก็ตกต่ำลง คนดีคนเก่งก็ถอยห่าง สร้างคนใหม่ไม่ได้ ตัวท็อปออกมาโชว์กลับโดนคนรุ่นใหม่ #ควาย

อำนาจปืนอำนาจกฎหมายใช้บังคับใครก็ได้ แต่ไม่สามารถทำให้คนยอมรับสติปัญญา และไม่สามารถปกครองใครได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน