ยกเลิกสารเคมีอันตราย

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ยกเลิกสารเคมีอันตราย : บทบรรณาธิการ – สารเคมีอันตราย 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต กลับมาเป็นประเด็นขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้ใช้กับกลุ่ม ผู้ต่อต้านภัยจากการใช้สารเคมีดังกล่าวอย่างเข้มข้นในตอนนี้ เมื่อรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ ลงนามยกเลิกการใช้สารเคมีทั้งสาม

แต่การถกเถียงเรื่องนี้อย่างจริงจังยืดเยื้อมานานกว่าหนึ่งปีแล้ว มีความเคลื่อนไหวจากทั้งกลุ่มเอ็นจีโอ นักวิชาการ จนถึงข้าราชการในกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวิทยาศาสตร์ ฯลฯ

ประเด็นหลักอยู่ที่ว่าควรยกเลิกการใช้สารเคมีนี้เมื่อใด ถ้าเลิกแล้วจะต้องใช้สารใดทดแทนเพื่อปกป้องการผลิต และสารนั้นจะเพิ่มต้นทุนการผลิตมากน้อยเพียงใด

หากเกษตรกรเดือดร้อนหนัก รัฐบาลมีมาตรการช่วยบรรเทาหรือไม่

กลุ่มสารเคมีอันตรายทางการเกษตร ดังกล่าว พาราควอตเป็นชนิดที่หลายๆ ประเทศทั่วโลก ทยอยยกเลิกการใช้ก่อนด้วยเหตุผลเพื่อการปกป้องสุขภาพของประชาชน รวมแล้วเกิน 50 ประเทศ

สหภาพยุโรปยกเลิกตั้งแต่เมื่อปี 2550 ส่วนจีนทยอยยกเลิก ตั้งแต่ปี 2555 ก่อนยกเลิกการใช้และจำหน่ายสูตรน้ำเมื่อปี 2559 ขณะที่สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จำกัดการใช้อย่างเข้มงวด

หากศึกษาจากกรณีของนานาประเทศ จะเห็นได้ว่าการยกเลิกสารเคมีดังกล่าวต้องมีแผนและระยะเวลาเพื่อให้เกษตรกรปรับตัวหรือเตรียมการรับมือ

ทั้งผู้ใช้และผู้ได้รับผลกระทบต่างต้องได้รับข้อมูลเท่าเทียมกัน

ตัวเลขการนำเข้าสารพาราควอตของประเทศไทย ปี 2560 มีมูลค่าสูงเป็นอันดับหนึ่งของวัตถุอันตรายที่นำเข้ามาในไทย กว่า 3 พันล้านบาท แสดงให้เห็นว่าการยกเลิกจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรจำนวนมาก

อีกทั้งการใช้สารเคมีทางการเกษตรทั้งสาม เป็นเรื่องที่มีรายละเอียดปลีกย่อย สำหรับเกษตรกรผู้ใช้แตกต่างพืชผลการผลิตกัน

การตัดสินยกเลิกดังกล่าวจึงต้องมีการรับฟังความเดือดร้อน เพื่อจะได้หามาตรการแก้ไขให้เกษตรกรแต่ละกลุ่มอย่างตรงจุดที่สุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน