FootNote : มรสุมความขัดแย้งอนาคตใหม่ จะฉุดรั้งหรือหนุนเสริมพัฒนา

ปรากฏการณ์ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ โหวตสวนทางกับมติพรรค ไม่ว่ากรณีพระราชกำหนด ไม่ว่ากรณีร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563

ได้รับความสนใจเป็นอย่างสูงในสังคม นำไปสู่คำถามว่าพรรคอนาคตใหม่จะบริหารจัดการกับความขัดแย้งนี้อย่างไร

เป็นความสนใจไม่เพียงแต่จากบรรดา “แฟนานุแฟน”ของพรรคอนาคตใหม่

หากแต่ยังเป็นความสนใจจากบรรดา “กองแช่ง”ซึ่งต้องการเห็นปัญหา เห็นความขัดแย้ง แตกแยกเกิดขึ้นกับพรรคอนาคตใหม่

นั่นก็คือ มาจากทั้ง “กองเชียร์”ผู้ปรารถนาดีและทั้ง “กองแช่ง”ผู้ต้องการเห็นความพินาศฉิบหาย

เบื้องหน้าปัญหาเช่นนี้พรรคอนาคตใหม่จะทำอย่างไร

ความจริงปัญหาแต่ละปัญหาอันเกิดขึ้นกับพรรคอนาคตใหม่มิได้เป็นเรื่องใหม่และเพิ่งเกิดขึ้น หากแต่ปรากฏให้เห็นนับแต่แรกทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการคัดเลือกตัวผู้สมัคร

การลาออกไปของกรรมการบริหารและเคยร่วมในการก่อตั้งพรรค ก็เกิดขึ้นมาแล้ว

การออกมาเอะอะโวยวายในระหว่างการทดลองทำ “ไพรมารีโหวต”เพื่อคัดสรรผู้สมัครก็มีตั้งแต่เมื่อเดือนมกราคมด้วยซ้ำไป เพราะมีทั้งผู้สมหวังและไม่สมหวัง

ยิ่งเมื่อประสบเข้ากับพ.ร.ก.ที่มีความแหลมคม หรือร่างพ.ร.บ.ที่มีผลต่ออนาคตของรัฐบาลยิ่งสำคัญ

แต่คำถามอยู่ที่ว่าพรรคอนาคตใหม่จะจัดการกับปัญหาอย่างไร

วิธีวิทยาในการบริหารจัดการกับปัญหาต่างหาก ที่จะสะท้อนวุฒิภาวะอย่างแท้จริงของนักการเมืองและโดยเฉพาะของพรรคการเมือง

ไม่ว่าพรรคเก่าระดับพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าพรรคกลางเก่ากลางใหม่อย่างพรรคเพื่อไทยซึ่งสืบทอดและต่อเนื่องมาจากพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน

ล้วนพัฒนาเติบใหญ่มาท่ามกลางความขัดแย้ง แตกแยกและแยกตัวทางการเมือง

ไม่มีพรรคการเมืองใดที่พัฒนาการอย่างราบเรียบ เงียบนิ่ง

พรรคอนาคตใหม่จึงด้านหนึ่งเรียนรู้จากความขัดแย้ง ด้านหนึ่งเรียนรู้ที่จะพัฒนา เติบใหญ่ไปในท่ามกลางความขัดแย้ง

รักษาฐานเดิม รักษาจุดดีจุดเด่น ตัดจุดด้อยออกไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน