FootNote:กรณีถวายสัตย์ปฏิญาณตน ย้อนกลับ ประยุทธ์ จันทร์โอชา

พลันที่คนของพรรคพลังประชารัฐอ้างอิงคำแถลงของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 11 กันยายน ต่อการถวายสัตย์ปฏิญาณขึ้นมาเพื่อปกป้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

กรณีคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ มีมติเรียกตัวไปชี้แจงในวันที่ 30 พฤศจิกายน

ทำให้ปัญหาของ”การถวายสัตย์ปฏิญาณ”อัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กระทำความผิดพลาด กล่าวไม่ครบและมีการต่อเติมบางถ้อยคำเข้าไปเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม

ได้หวนกลับมาเป็น”ประเด็น”อีกครั้งหนึ่ง

บทบาทและความหมายอย่างมีนัยสำคัญก็ยังอยู่ในความเข้าใจเดิม นั่นก็คือ ถูกต้องหรือผิดไปจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 161

นี่คือประเด็นอันมีการอภิปรายกันในวันที่ 18 กันยายน

บทสรุปของพรรคพลังประชารัฐที่ยึดเอา”แถลง”จากศาลรัฐธรรมนูญเป็นการยุติ เป็นบทสรุปเดียวกันกับความเข้าใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

แต่ความเป็นจริงที่ทางด้านรัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐไม่ได้พูดก็คือ

บทบาทของสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 18 กันยายน

ขณะเดียวกัน ที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ การอภิปรายทั่วไปเมื่อวันที่ 18 กันยายน ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรนั้นเป็นการอภิปรายโดยไม่มีการลงมติ

หน้าที่ของคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบโดยการเรียก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มาสอบถาม

ก็เพื่อให้กรณี”ถวายสัตย์ปฏิญาณ”มีบทจบอย่างแท้จริง

ไม่ว่าในที่สุด มติของคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ จะลงเอยอย่างไร

แต่สายตาย่อมทอดจับไปยังบุคคล 2 คน

1 คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี 1 คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

คำถามก็คือ 2 คนนี้จะปฏิบัติตนอย่างไร

ปฏิบัติตามมติของคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ หรือจะไม่ยอมปฏิบัติตาม

นี่คือความละเอียด นี่คือความอ่อนไหวในทางการเมือง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน