สหรัฐลงดาบไทย : บทบรรณาธิการ

การประชุมอาเซียนซัมมิต วันที่ 2-4 พ.ย.2562 จากเดิมที่ไทยมีบทบาทโดดเด่นในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุม ขณะนี้มีประเด็นร้อน ที่ไทยต้องหวังพึ่งเวทีนี้เพื่อเจรจาพิเศษกับตัวแทน รัฐบาลสหรัฐอเมริกา

หลังจากประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ มีคำสั่งให้ระงับข้อตกลงตามมาตรการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือจีเอสพี กับสินค้าบางชนิดที่นำเข้าจากไทย เริ่มบังคับใช้ใน 6 เดือนข้างหน้า หรือภายในวันที่ 25 เม.ย.2563

สินค้าดังกล่าวชัดเจนว่าเป็นอาหารทะเลทั้งหมด ของไทย

ด้วยเหตุผลว่าไทยไม่สามารถยกระดับสิทธิแรงงานให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล ไม่แก้ไขวิกฤตสิทธิและสวัสดิการแรงงานชาวประมงในระดับที่น่าพอใจ

คําสั่งดังกล่าวแม้เป็นเรื่องน่าตกใจ แต่ไม่ถึงกับประหลาดใจ เนื่องจากสหรัฐเปิดศึกการค้ากับจีนอย่างชัดเจน และส่งสัญญาณกับประเทศอื่นๆ มาตั้งแต่ปี 2560

รัฐบาลนายทรัมป์ขึ้นบัญชีประเทศไทยก็เป็น 1 ใน 16 รายชื่อประเทศที่สหรัฐขาดดุลการค้า และสั่งให้ตรวจสอบ

ผลจากคำสั่งระงับมาตรการจีเอสพีกับไทย ล่าสุดนี้ สำนักงานคณะผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา ระบุว่าจะกระทบกับสินค้าที่อยู่ภายใต้ข้อตกลงถึง 1 ใน 3 ส่วน คิดเป็นมูลค่ารวม 1,300 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 4 หมื่นล้านบาท

ผลกระทบต่างๆ นี้กระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานหลักที่ต้องประเมินและ หาวิธีรับมือ

ปี 2561 ไทยยังคงได้ดุลการค้าสหรัฐ 19,300 ล้านดอลลาร์ จากมูลค่าการค้า 44,500 ล้านดอลลาร์

ส่วนปี 2562 มูลค่าการค้าระหว่างกันเดือนม.ค.-ก.ย. ยังอยู่ในระดับสูง ราว 38,600 ล้านดอลลาร์

สหรัฐรั้งอันดับ 3 ประเทศคู่ค้าของไทย รองจากจีนและญี่ปุ่น และคิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 10

จุดอ่อนสำคัญ 3 เรื่องที่ไทยรู้ว่าถูกเพ่งเล็งคือ ทรัพย์สินทางปัญญา ปัญหาใช้แรงงานทาส และมาตรฐานสินค้า

คำถามคือรัฐบาลได้แสดงออกหรือทำให้รัฐบาลสหรัฐเห็นว่า เราได้ลดจุดอ่อนนี้ได้เพียงใดในช่วงเวลานับจากถูกขึ้นบัญชีที่สหรัฐจับตาอย่างไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน