FootNote:กรณี ประยุทธ์ กรณี ธนาธร ในตรวจสอบ ก็ถูกตรวจสอบ

ไม่ว่ากรณีที่พรรคพลังประชารัฐตั้งข้อสงสัยต่อการดำรงตำแหน่งเป็นกรรมาธิการวิสามัญร่างพรบ.งบประมาณของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ไม่ว่ากรณีที่คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบมีหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ให้ไปตอบคำถาม

เป็น “กระบวนท่า” ที่มาจากพื้นฐานอย่างเดียวกัน นั่นก็คือ มีจุดเร้าและมีความต้องการในทาง “การเมือง”

เพียงแต่ของพรรคพลังประชารัฐไม่มี”กฎหมาย”รองรับ

ขณะที่คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบมีฐานทาง”กฎหมาย”รองรับ

นั่นก็คือ เป็นกระบวนการในอำนาจแห่ง”อำนาจนิติบัญญัติ”

ก็เหมือนกับที่บุคคลระดับรองประธานคณะกรรมาธิการคนหนึ่งออกมายอมรับว่า ที่ลงมติเห็นด้วยกับเสียงส่วนใหญ่ก็มีความเชื่อมั่นว่าจะไม่ได้รับความร่วมมือ

นั่นก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ คงไม่ไปตามที่มีมติและทำหนังสือเชิญ

กล่าวสำหรับหลายคนของพรรคพลังประชารัฐก็มองเห็นความหวังริบหรี่เป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการสนองตอบจากองค์กรอิสระ หรือแม้กระทั่งสภาผู้แทนราษฎร

เพราะเสียงยืนยันของ นายชวน หลีกภัย นั้นแจ่มชัด

แต่เมื่อมีเป้าหมายในทาง”การเมือง”เสียแล้ว ก็หมายถึงการพาดพิงไปยังตัวบุคคลไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

สังคมย่อมเฝ้ามองและติดตามด้วยความใกล้ชิด

สังคมมิได้เฝ้ามองเพียงว่าตัวบุคคลอันเป็นเป้าหมายจะมีท่าทีขานรับ หรือปฏิเสธต่อการกดดันไม่ว่าจะมาจากพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะมาจากคณะกรรมาธิการอย่างไร

หากแต่ยังประเมินด้วยว่า พรรคพลังประชารัฐมีความชอบธรรม เพียงพอหรือไม่

คณะกรรมาธิการมีเหตุผลหนักแน่นเพียงใด

การเคลื่อนไหวจากพรรคพลังประชารัฐ การเคลื่อนไหวจากคณะกรรมาธิการจึงดำเนินไปในแบบ “ดาบสองคม”

คมหนึ่งเข้า”เป้าหมาย” อีกคมหนึ่งอาจเข้า”ตนเอง”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน