คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ความเปลี่ยนแปลงของหมุดคณะราษฎรบริเวณลานหน้าพระบรมรูปทรงม้าเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจอยู่มาก

เพราะหมุดดังกล่าวมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ทางการเมืองของไทย

ไม่เพียงเพราะตัวอักษรข้อความว่า “ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ”

หากยังเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญในวันเหตุการณ์การอภิวัฒน์สยาม เมื่อปี 2475 ที่มีความเกี่ยวพันกับวันรัฐธรรมนูญ

และเป็นส่วนหนึ่งในการเริ่มต้นของระบอบประชาธิปไตย

นอกเหนือจากตัวหมุดคณะราษฎรมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์แล้ว สถานที่ฝังอยู่กับพื้นถนนบนลานพระบรมรูปทรงม้าด้านสนามเสือป่า ณ ตำแหน่งที่พระยาพหลพลพยุหเสนาอ่านประกาศคณะราษฎร เมื่อ 85 ปีก่อนก็มีความสำคัญด้วย

ด้วยความสำคัญในด้านประวัติศาสตร์นี้ กรมศิลปากรจึงกลายเป็นจุดหมายที่ผู้คนทั่วไปคาดหวังในเรื่องการอนุรักษ์ ไม่ว่าในทางปฏิบัติและความรับผิดชอบทางราชการจะครอบคลุมหรือไม่ก็ตาม

อย่างน้อยในฐานะหน่วยงานที่ดูแลมรดกทางศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของชาติ จึงเป็นความหวังว่าจะหาคำตอบให้ได้ว่า หมุดคณะราษฎรชิ้นประวัติศาสตร์นั้นจะได้รับการอนุรักษ์อย่างไร

แม้ว่ารัฐธรรมนูญของไทยจะเปลี่ยนแปลงถูกฉีกทิ้งและเขียนขึ้นใหม่บ่อยครั้ง ตามระบอบประชาธิปไตยที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด 85 ปี

อีกทั้งหมุดคณะราษฎรอาจถูกมองในบางแง่มุมว่าเป็นเพียงสัญลักษณ์ของการลอกเลียนหรือทำตามประเทศประชาธิปไตยในโลกตะวันตก

แต่การอนุรักษ์หมุดคณะราษฎรก็ไม่ควรถูกละเลย เช่นเดียวกับประวัติศาสตร์การเมืองทั้งหมดไม่ว่าดีหรือร้าย พัฒนาขึ้นหรือถอยหลังลง

หมุดที่เป็นความหวังในทางการเมืองไทยคือการที่คนในสังคมยอมรับความเป็นจริงทางประวัติ ศาสตร์ และตระหนักว่าทุกอย่างนั้นเป็นบทเรียนที่ล้ำค่า

เพื่อให้เป็นจุดเตือนสติว่าการพัฒนาประชาธิปไตยนั้นไม่ง่าย และไม่มีทางเกิดได้ด้วยสูตรสำเร็จรูปของคณะใดคณะหนึ่ง

ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน