รับผิดชอบเอง

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

คดีความใหญ่โตระหว่างรัฐกับบริษัทเอกชนต่างชาติ เรียกสั้นๆ ว่าคดีเหมืองทองอัครา จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการเดือนพฤศจิกายนนี้

คดีนี้บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด บริษัทแม่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ยื่นฟ้องรัฐบาลไทย ละเมิดข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย หรือ TAFTA จากการสั่งให้ยุติกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรี อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร

กรณีดังกล่าวสมาชิกสภาผู้แทนฯ เริ่มเอ่ยถึงในการอภิปรายพ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2563 และคาดว่าจะมีอีกเมื่อเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล

เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนคงจะติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากผลลัพธ์จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

จากรายงานนำเสนอทางออกของปัญหาที่กระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีที่เพิ่งผ่านมาระบุถึง 4 หนทางเลือก

ได้แก่ หนึ่ง จ่ายเงินให้กับบริษัทอัคราฯ แล้วให้เลิกกิจการไป สอง ทำตามข้อเสนอของบริษัท อัครา เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายเงิน สาม รอผลการตัดสินของอนุญาโตตุลาการ แล้วปฏิบัติตาม และสี่ หาช่องจ่ายเงินค่าปรับบางส่วน โดยให้ชดเชยค่าเสียหาย แล้วให้ดำเนินกิจการต่อ

เบื้องต้นที่ประชุมยังไม่เลือกหนทางใด เพียงมีการทักท้วงว่า เมื่อรัฐบาลสั่งปิดกิจการของเหมืองไปแล้ว ไม่ควรให้ดำเนินกิจการอีก

ขณะที่นายกรัฐมนตรีประกาศว่าจะขอรับผิดชอบเอง

คําสั่งระงับการอนุญาตให้ประกอบกิจการ เหมืองแร่ทองคำ ที่นำมาสู่การฟ้องร้องนี้เป็นคำสั่งคสช. มาตรา 44 ฉบับที่ 72/2559 วันที่ 1 ม.ค.2559 ให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำระงับการประกอบกิจการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2560 เป็นต้นไป เพราะเห็นว่ากิจการนี้ มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

ข้อขัดแย้งเกิดขึ้นว่าผลกระทบดังกล่าวมีมากน้อยเพียงใด มีการรั่วไหลของสารเคมีหรือไม่ อีกทั้งข้อหาที่บริษัทเอกชนยื่นฟ้อง เป็นเรื่องการละเมิดข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศ

คำกล่าวของนายกรัฐมนตรีที่จะรับผิดชอบคดีนี้เอง จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว ทั้งในฐานะผู้นำรัฐบาล และผู้ออกคำสั่งคสช.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน