คอลัมน์ รายงานพิเศษ

ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่กรธ.พิจารณาปรับปรุงล่าสุด เมื่อวันที่ 3 เม.ย. มีทั้งสิ้น 10 หมวด และบทเฉพาะกาล รวม 142 มาตรา มีสาระสำคัญ ดังนี้

มาตรา 6 ให้เลขาธิการกกต.เป็นนายทะเบียน

หมวด 1 การจัดตั้งพรรคการเมือง

มาตรา 9 บุคคลไม่น้อยกว่า 500 คน อาจร่วมกันจัดตั้งพรรค โดยไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้ (3) ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามมาตรา 98 ของรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ต้องมีทุนประเดิมไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท ผู้ร่วมจัดตั้งพรรคทุกคนต้องร่วมจ่ายเงินเพื่อเป็นทุนประเดิม คนละไม่น้อยกว่า 1 พันบาท แต่ไม่เกิน 3 แสนบาท

มาตรา 14 ข้อบังคับพรรคต้องไม่มีลักษณะต่อไปนี้ (4) ครอบงำหรือเป็นอุปสรรคต่อการทำหน้าที่โดยอิสระของส.ส.

มาตรา 15 ข้อบังคับพรรค อย่างน้อยต้องมีรายการดังนี้ (12) หลักเกณฑ์และวิธีคัดเลือกสมาชิกเพื่อส่งสมัครเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ และการคัดเลือก 3 บุคคล เพื่อเสนอให้พิจารณาเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 88 ของรัฐธรรมนูญ ต้องให้สมาชิกมีส่วนร่วมคัดเลือกอย่างกว้างขวาง

(13) หลักเกณฑ์และวิธีคัดเลือกบุคคลดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องให้สมาชิกมีส่วนร่วม (15) รายได้ของพรรค อัตราค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรค ต้องเรียกเก็บจากสมาชิกไม่น้อยกว่าปีละ 100 บาท

มาตรา 18 บุคคลตามมาตรา 9 ไม่น้อยกว่า 15 คน จะยื่นคำขอแจ้งการเตรียมจัดตั้งพรรคต่อนายทะเบียนก่อน แล้วค่อยรวบรวมผู้ตั้งพรรคให้ครบ 500 คนก็ได้ แต่ต้องยื่นคำขอภายใน 180 วัน

หมวด 2 การดำเนินกิจกรรมของพรรค

มาตรา 22 เมื่อมี พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งส.ส.หรือส.ว. กก.บห.พรรคมีหน้าที่ควบคุมไม่ให้สมาชิก กระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเป็นคุณเป็นโทษแก่ผู้สมัครไม่ว่าโดยตรงหรืออ้อม

หากกก.บห.พรรครับรู้ หรือได้รับแจ้งจากนายทะเบียน ให้สั่งให้สมาชิกยุติการกระทำนั้น

หากนายทะเบียนเห็นว่าพรรคไม่ทำตาม ให้เสนอเรื่องต่อกกต. เพื่อพิจารณามีคำสั่งให้กก.บห.พรรคพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และห้ามดำรงตำแหน่งในพรรค 20 ปี และห้ามก้าวก่ายแทรกแซงกิจกรรมของพรรคนั้น และห้ามมีส่วนสรรหาคนลงสมัครส.ส. หรือสรรหาคนดำรงตำแหน่งทางการเมือง

กก.บห.พรรคมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งกกต.ต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ภายใน 30 วัน

มาตรา 26 หากนายทะเบียนพบว่า บุคคลใดเป็นสมาชิกหลายพรรค ให้นายทะเบียนแจ้งพรรคให้ลบผู้นั้นออกจากสมาชิก

มาตรา 27 สมาชิกภาพสมาชิกสิ้นสุดเมื่อ (3) ไม่ชำระค่าบำรุงสมาชิก 2 ปีติดต่อกัน

มาตรา 28 ห้ามไม่ให้พรรค ยินยอมให้บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรค กระทำการควบคุม ครอบงำ ชี้นำกิจกรรมของพรรค จนพรรคหรือสมาชิกขาดความเป็นอิสระ ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม

มาตรา 29 ห้ามไม่ให้ผู้ใดซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรค กระทำการควบคุม ครองงำ ชี้นำกิจกรรมของพรรค จนพรรคหรือสมาชิกขาดความเป็นอิสระ ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม

มีโทษจำคุก 5-10 ปี ปรับ 1-2 แสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี

มาตรา 30 ห้าม ไม่ให้พรรคหรือผู้ใด เสนอให้ สัญญา จะให้เงินหรือทรัพย์สิน ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อจูงใจสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรค

มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี หากผิดเพื่อลงสมัครส.ส. มีโทษจำคุก 5-10 ปี ปรับ 1-2 แสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น

มาตรา 31 ห้ามไม่ให้ผู้ใด เรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน จากพรรค หรือจากผู้ใด เพื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรค มีโทษ เช่นเดียวกับมาตรา 30

มาตรา 33 ภายใน 1 ปีนับจากจดทะเบียน พรรคต้องดำเนินการ (1) ให้มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 5,000 คน และต้องเพิ่มสมาชิกให้มีไม่น้อยกว่า 10,000 คนภายใน 4 ปี (2) จัดให้มีสาขาพรรคในแต่ละภาคและจังหวัด อย่างน้อยภาคละ 1 สาขา และแต่ละสาขาต้องมีสมาชิก 500 คนขึ้นไป

มาตรา 44 ห้ามมิให้พรรค ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และสมาชิก รับบริจาคจากผู้ใดเพื่อกระทำการสนับสนุน การกระทำบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์

ผู้บริจาคมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

มาตรา 46 ห้ามมิให้พรรค สมาชิก เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินจากผู้ใด เพื่อให้ผู้นั้นหรือบุคคลอื่นได้รับตำแหน่งทางการเมือง หรือตำแหน่งบริหารงานรัฐ

ห้ามมิให้ผู้ใดให้ ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน แก่พรรค สมาชิก หรือผู้ใด เพื่อจูงใจให้ตนหรือบุคคลอื่นได้รับตำแหน่งทางการเมือง หรือตำแหน่งบริหารงานรัฐ

มีโทษจำคุก 10-20 ปี และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

หมวด 3 การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง

มาตรา 47 ให้พรรคที่จะส่งผู้สมัครส.ส.แบบแบ่งเขต รับฟังความเห็นจากสาขาพรรค หรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดด้วย

มาตรา 49 ในการเลือกตั้งทั่วไป การส่งผู้สมัคร ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหา ที่ประกอบด้วยกรรมการบริหารพรรคไม่เกินกึ่งหนึ่ง กับหัวหน้าสาขาพรรค และตัวแทนพรรคประจำจังหวัด

มาตรา 51 การกำหนดนโยบายของพรรคที่ใช้โฆษณา อย่างน้อยต้องมี (1) วงเงินและที่มาของเงินที่จะใช้ดำเนินการ (2) ความคุ้มค่าและประโยชน์ (3) ผลกระทบและความเสี่ยง

หมวด 5 รายได้ของพรรค

มาตรา 58 การระดมทุนของพรรคต้องทำโดยเปิดเผยและให้เปิดเผยชื่อผู้สนับสนุนตั้งแต่ 1 แสนบาทขึ้นไป

มาตรา 60 บุคคลใดจะบริจาคเงิน ทรัพย์สินแก่พรรคเกิน 10 ล้านบาทต่อปีมิได้

มาตรา 63 ผู้เสียภาษีเงินได้ มีสิทธิแสดงเจตนาให้รัฐนำเงินที่ตนเสียภาษีไปอุดหนุนพรรคได้ปีละ 500 บาท

หมวด 7 การใช้จ่ายเงินของพรรค

มาตรา 81 พรรคต้องเปิดเผยค่าใช้จ่ายการประชาสัมพันธ์ทุกรูปแบบ

มีโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรค 5 ปี รวมถึงกก.บห.พรรคด้วย หากละเลย

มาตรา 82 ห้ามสมาชิกที่เป็นส.ส.รับเงิน ทรัพย์สิน โดยไม่มีมูลอ้างได้ตามกฎหมาย

ผู้ใดจ่ายเงินมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท และให้ศาลสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

หมวด 8 การสิ้นสุดของพรรค

มาตรา 85 พรรคการเมืองสิ้นสภาพเมื่อ (1) ไม่แก้ไขข้อบังคับให้ถูกต้อง ตามที่กกต.มีมติให้เพิกถอนข้อบังคับ โดยพรรคต้องแก้ไขให้ครบใน 30 วัน หากไม่แก้ไขหรือแก้ไขไม่ถูกต้อง ให้พรรคสิ้นสภาพ ตามมาตรา 17 วรรคสาม

ผู้ใดเรียกรับหรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด จากพรรคหรือจากผู้ใดเพื่อสมัครเป็นสมาชิกพรรค ตามมาตรา 31

(2) หากมีสมาชิกพรรคไม่ถึง 5,000 คน ภายใน 1 ปี หรือมีสมาชิกไม่ถึง 10,000 คน ใน 4 ปี ติดต่อกัน 90 วัน

(3) หากมีสาขาเหลือไม่ถึงภาคละ 1 สาขา เป็นเวลา 1 ปีติดต่อกัน

(5) ไม่ส่งคนลงสมัครเลือกตั้งส.ส. 2 ครั้งติดต่อกัน หรือ 8 ปีติดต่อกัน

มาตรา 86 เมื่อกกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคใดกระทำการอย่างใดต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรค ดังนี้ (1) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจปกครองประเทศ (2) กระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ (3) กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 20 วรรคสอง มาตรา 28, 30, 36, 44, 45, 66 หรือมาตรา 68

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการแล้วมี หลักฐานอันควรเชื่อได้ ให้สั่งยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกก.บห.พรรค

มาตรา 88 เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค ห้ามมิให้กก.บห.ที่ถูกยุบไปจดทะเบียนพรรคใหม่ หรือเป็นกก.บห.พรรคที่ตั้งขึ้นใหม่ ภายใน 10 ปี นับจากถูกยุบพรรค

หมวด 10 บทกำหนดโทษ

มาตรา 130 ความผิดตามพ.ร.บ.นี้ ถ้าจำเลยอยู่ในอำนาจศาล แล้วหลบหนีหรือยังจับตัวไม่ได้ ให้ศาลมีอำนาจพิจารณา สืบพยานและอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยได้

บทเฉพาะกาล

มาตรา 131 ให้พรรคที่จัดตั้งตามพ.ร.บ. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 เป็นพรรคตามพ.ร.บ.นี้ เช่นเดียวกับกก.บห.พรรคและสมาชิกพรรค

มาตรา 132 พรรคเดิม ตามมาตรา 131 ต้องดำเนินการดังนี้ (1) แจ้งเปลี่ยนสมาชิกให้นายทะเบียนทราบภายใน 90 วัน (2) พรรคเดิม ที่ยังมีสมาชิกไม่ถึง 500 คน ต้องหาสมาชิกให้ครบภายใน 180 วัน (3) จัดให้มีทุนประเดิม 1 ล้านบาท ภายใน 180 วัน กรณีพรรคที่มีอยู่แล้ว ให้แจ้งนายทะเบียนทราบ

(4) ให้สมาชิกพรรคไม่น้อยกว่า 500 คน ชำระค่าบำรุงพรรคภายใน 180 วัน และให้พรรคแจ้งหลักฐานต่อกกต.ภายใน 15 วัน (5) ให้สมาชิกพรรคชำระเงินบำรุงพรรคให้ได้ไม่น้อยกว่า 5 พันคน ภายใน 1 ปี และให้ได้ไม่น้อยกว่า 1 หมื่นคนภายใน 4 ปี

(6) ให้มีการประชุมใหญ่เพื่อแก้ข้อบังคับและนโยบายให้ถูกต้อง และเลือกหัวหน้า กรรมการบริหารพรรค ภายใน 180 วัน (7) ตั้งสาขาพรรค และตัวแทนพรรคประจำจังหวัดให้ครบ ภายใน 180 วัน กรณีที่มีอยู่แล้วให้แจ้งต่อนายทะเบียน

พรรคอาจขอขยายเวลาตามจำเป็นก็ได้ แต่รวมแล้วไม่เกิน 3 ปี ต่อนายทะเบียน หากครบแล้วยังไม่เสร็จ ให้พรรคสิ้นสภาพ ทั้งนี้ ระหว่างเวลาที่พรรคยังปฏิบัติตาม (1)(2)(3)(4)(6)และ(7) เฉพาะที่เกี่ยวกับการตั้งสาขาพรรคไม่ครบถ้วน จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่ได้

มาตรา 135 ในการสรรหาผู้สมัครรับ เลือกตั้ง พรรคใหม่ที่ขอจดทะเบียนหลังกฎหมายนี้บังคับใช้ และยังไม่มีสาขาพรรคและตัวแทนพรรคประจำจังหวัด ให้คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคใหม่ ประกอบด้วย กรรมการบริหารพรรค 4 คน และตัวแทนสมาชิก 7 คน อย่างน้อยต้องมีตัวแทนสมาชิกในแต่ละภาค

มาตรา 141 ผู้ซึ่งถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และยังไม่พ้นระยะเวลาที่ถูกห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก่อนที่กฎหมายนี้ ใช้บังคับ ให้ถือว่าผู้นั้นถูกเพิกถอนสิทธิ หรือห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามกฎหมายนี้ โดยให้นับต่อเนื่องจนครบกำหนด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน