FootNote:ญัตติด่วน ผลกระทบ มาตรา 44 กระแทกอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐใช้เวลาจำนวนมากไปกับ 2 เรื่องที่รุมล้อมมาโดยรอบ

1 การสกัด นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่เข้ามาเป็นกรรมาธิการ

1 การสกัดบทบาทของคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปราม การทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่ดอดเข้ามาทุบ”กล่องดวงใจ”อย่างท้าทาย

ด้วยการเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไปขึ้นเขียง

ญัตติด่วนขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศและคำสั่งคสช.และการใช้อำนาจของหัวหน้าคสช.ตามมาตรา 44

ก็เข้ามาอยู่ในวาระแรกของการประชุมวันที่ 7 พฤศจิกายน

ญัตตินี้ค้างมาจากสมัยประชุมก่อน ผู้เสนอคือ นายปิยบุตร แสงกนกกุล และคณะจากพรรคอนาคตใหม่

เห็นเพียงแค่นี้ก็ก่ออาการสะทกระเนนอย่างยิ่งอยู่แล้ว

เพราะว่ามีความโดดเด่นเป็นอย่างมากไม่เพียงแต่จากกรณีถวาย สัตย์ปฏิญาณตน หากแต่เมื่อเป็นประเด็นในทางกฎหมายนามของ นายปิยบุตร แสงกนกกุล มีความเด่นชัด

ยิ่งกว่านั้น ญัตติด่วนนี้มีพื้นฐานอย่างสำคัญมาจากการศึกษาและประมวลของ ILow อันเป็นภาคประชาชนที่เกาะติดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หลังรัฐประหารเมื่อปี 2557 เป็นต้นมา

ที่ นายสุทิน คลังแสง เห็นว่า นี่เท่ากับเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางงใจระดับย่อมๆนั้นถูกต้องอย่างที่สุดโดยชื่อชั้นและกระบวนการอภิปรายของ นายปิยบุตร แสงกนกกุล

ปลายหอกพุ่งเข้าใส่ยอดอก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

บรรดา”ลูกแหล่งตีนมือ”ในพรรคประชาธิปัตย์อาจเริ่มตื่นแล้วเมื่อได้รับการยืนยันไม่เพียงแต่จากสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น หากแม้กระทั่ง นายวิรัช รัตนเศรษฐ ก็ต้องตั้งหลักรับมือ

เพราะนี่มิได้เป็นเรื่องของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลัง การเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562

หากแต่เป็นการประมวลทุกก้าวย่างนับแต่รัฐประหารเมื่อเดือน พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา เป็นผลกระทบโดยตรงทั้งต่อนักการเมืองและต่อประชาชน

เป็นการฉายชี้ให้เห็นคราบ”เผด็จการ”ที่ยังมีการ”สืบทอด”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน