อาเซียนส่งไม้ต่อ

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

อาเซียนส่งไม้ต่อ – การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 ที่เพิ่งปิดฉากลง เป็นนัดส่งท้ายการเป็นประธานอาเซียนของไทยในปี 2562 และส่งไม้ต่อให้เวียดนาม

ไม่เพียงผู้นำอาเซียนจาก 10 ประเทศสมาชิกมาร่วมประชุม ยังมีประเทศคู่เจรจาของอาเซียน ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ รัสเซีย สหรัฐอเมริกา รวมถึงสหประชาชาติ

การมีคู่เจรจาเป็นประเทศที่ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมือง แสดงถึงผลของการรวมกลุ่มของอาเซียนที่ทำให้ภูมิภาคนี้มีความสำคัญบนเวทีโลก

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตชัดเจนว่า แม้การประชุมนี้จะเป็นวาระการประชุมสุดยอด หรือซัมมิท แต่ผู้นำสูงสุดของหลายประเทศไม่ได้ เดินทางมาเองเหมือนในอดีต

นี่เป็นคำถามอีกเช่นกันว่า สถานะของอาเซียนยังทรงคุณค่าเหมือนเดิมหรือไม่

คําถามและข้อสังเกตนี้จะเป็นการบ้านที่ส่งต่อไปยังเวียดนาม ในฐานะประธานอาเซียน ปีต่อไป ปี 2563

เนื่องจากอาเซียนเป็นประชาคมที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ติดอันดับต้นๆ ของโลก มูลค่าจีดีพีเมื่อปี 2560 รวม 2.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และขยายตัวต่อเนื่อง

เป็นภูมิภาคที่มีจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตกว่า 300 ล้านคนที่ยังเชื่อมโยงถึงตลาดอี-คอมเมิร์ซ

ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจโลก หลายประเทศล้วนเผชิญผลกระทบและน่าจะต้องวิ่งเข้าหาตลาดที่มีศักยภาพที่ช่วยขยายธุรกิจการค้าได้

แต่เหตุใดผู้นำสูงสุดของประเทศคู่เจรจาจึงไม่ดั้นด้นเดินทางมาประชุมสุดยอดอาเซียน

ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศระบุว่า เวทีอาเซียน ซัมมิท ครั้งนี้มีการประชุมที่เกี่ยวข้องจำนวนมากทั้งการเจรจาระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาและการหารือระหว่างภาคเอกชน มีเอกสารที่เป็นผลลัพธ์ของการประชุมรวม 46 ฉบับ

ผลลัพธ์ดังกล่าวจะเป็นภาระหน้าที่ของอาเซียนที่ต้องติดตามผลต่อไป ว่านำไปสู่การปฏิบัติและประเมินผลอย่างไร และประชาชนควรได้รับทราบว่าตนเองมีส่วนร่วมอย่างไร

การประชุมอาเซียนควรเป็นเวทีที่รัฐควรดึงประชาชนให้มีส่วนร่วมและเข้าถึงมากขึ้น มากกว่าเป็นเวทีที่จำกัดอยู่ในแวดวงราชการ

พลังของอาเซียนอยู่ที่ประชาชน ความสำคัญของภูมิภาคจะเพิ่มขึ้น ถ้าอาเซียนจัดการตรงนี้ได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน