อย่าคิดว่าเรื่อง “หมุดคณะราษฎร” จะเป็นเรื่องในพรมแดนแห่งวิชา”ประวัติศาสตร์”

เพราะเกี่ยวกับ “24 มิถุนายน 2475”
แต่เมื่อสัมพันธ์กับการหายไปอย่างลี้ลับ ไม่รู้ว่าใครเอาของเก่าไป ไม่รู้ว่าใครเอา”หมุดหน้าใส”มาแทนที่
ก็เป็นเรื่องของ “ของหาย”
เมื่อเป็นเรื่องของ “ของหาย”โดยที่เขตดุสิต กทม.ก็ตอบไม่ได้ โดยที่กรมศิลปากรก็ตอบไม่ได้
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ก็ตอบไม่ได้
กรณี”หมุดคณะราษฎร”จึงกลายเป็นเรื่องของความสงสัยในอาการแบบ “โจรกรรม”
จึงจัดเป็นเรื่องในทาง “กฎหมาย”

เรื่องของกฎหมายจึงเรียกร้องความสนใจไปยังกลุ่มบุคคล 2 กลุ่มที่ทำงานอยู่ในเรื่องนี้
1 ทนายความ 1 อาจารย์ทางกฎหมาย
ยิ่งกว่านั้น คนซึ่งต้องอิงหลัก “กฎหมาย” อย่างแนบแน่นก็คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจ
หาใคร”แม่น”กฎหมายเท่า”ตำรวจ”คงยาก
เมื่อวันที่มีการเข้าไปแจ้งความ”ร้องทุกข์” ร.ต.อ.มอ ระนา รองสารวัตร(สอบสวน) สน.ดุสิต
ระบุโดยอิงกับหลัก”กฎหมาย”ออกมาว่า
“ทรัพย์สินที่หายไปนั้นเป็นทรัพย์สินของทางราชการ เป็นผู้ใดก็ได้ที่มาร้องทุกข์กล่าวโทษ”
วันต่อมาก็มี “คำถาม” ที่ สน.ดุสิตอีกเหมือนกัน
“ผู้ที่มาแจ้งความต้องถามว่าเป็นทรัพย์มรดกของตนเอง หรือเป็นทรัพย์สินของบุคคลใด และเป็นผู้เสียหายหรือไม่จึงเข้ามาแจ้งความร้องทุกข์”
“เสียง”นี้ล้วนมาจาก สน.ดุสิต “เสียง”นี้เป็นของ”ตำรวจ”

ตกลง “หมุดคณะราษฎร”เป็นทรัพย์สินของทางราชการ หรือว่าเป็นทรัพย์สินส่วนตัว
ถามว่าใครเป็นคนสั่งให้ทำ “หมุดคณะราษฎร”
ถามว่าใครหรือหน่วยราชการใดเป็นผู้รับคำสั่งและดำเนินการจัดทำเมื่อปี 2479
เป็นคำถามทางประวัติศาสตร์ เป็นคำถามทางกฎหมาย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน