FootNote:พื้นที่แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พลังประชารัฐ VS ประชาธิปัตย์

หากญัตติด่วนมากจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อศึกษาและพิจารณาหาหลักเกณฑ์การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มีความสำคัญ

การเสนอชื่อ “กรรมาธิการวิสามัญ” การเลือก “ประธาน” คณะกรรมาธิการวิสามัญ ยิ่งมีความสำคัญเป็นอย่างสูง

เพราะ 1 พรรคพลังประชารัฐ ยืนยันอย่างหนักแน่นมาแล้วว่าตำแหน่ง “ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ” ต้องเป็นของพรรคพลังประชารัฐ

ขณะเดียวกัน เพราะ 1 พรรคประชาธิปัตย์มีมติเห็นชอบเสนอชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นกรรมาธิการวิสามัญ เป้าหมายแท้จริงคือตำแหน่ง”ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ”

นี่คือการต่อสู้ ทั้งยังเป็นการต่อสู้อันแหลมคมยิ่งทางการเมือง

ไม่ว่าในที่สุดแล้วจำนวนคณะกรรมาธิการวิสามัญจะเป็น 50 กว่าคนตามความเห็นของ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ ในฐานะตัวแทนครม.ประสานกับวิปรัฐบาล

ไม่ว่าในที่สุดแล้วจำนวนคณะกรรมาธิการวิสามัญจะเป็น 49 คน ตามความเห็นจากพรรคเพื่อไทย

นั่นก็คือ ครม. 12 พรรคร่วมรัฐบาล 18 ฝ่ายค้าน 19

จำนวนของครม. 12 เมื่อผนวกเข้ากับ 18 ของพรรคร่วมรัฐบาลก็เป็น 30 มากกว่า 19 ของฝ่ายค้านอย่างแน่นอน

พื้นที่ของกรรมาธิการจึงเป็นของครม.และพรรคร่วมรัฐบาล

ประเด็นอยู่ที่ว่าเมื่อเป็นการต่อสู้ระหว่างคนของพรรคพลังประชารัฐกับคนของพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลทั้งคู่ คะแนนของฝ่ายค้านจะเทให้กับคนของพรรคการเมืองใด

เทให้กับพรรคพลังประชารัฐ หรือเทให้กับพรรคประชาธิปัตย์

ระหว่างพรรคพลังประชารัฐ กับ พรรคประชาธิปัตย์ ท่าทีต่อการแก้ไข เพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแตกต่างกัน

พรรคประชาธิปัตย์จริงจังมากกว่า

เพราะหากไม่จริงจังก็คงไม่เสนอเป็น”เงื่อนไข”สำคัญในการเข้าร่วมรัฐบาล เพราะหากไม่จริงจังก็คงไม่ผลักดันกระทั่งกลายเป็น 1 ใน 12 ของนโยบาย”เร่งด่วน”

ทั้งๆที่พรรคพลังประชารัฐกีดกันอย่างเต็มที่และต้องการตำแหน่ง ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ แต่พรรคประชาธิปัตย์ยังยืนหยัด

นี่คือสถานการณ์ # อยู่เป็น และ # อยู่ไม่เป็นอันแหลมคม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน