จากเหตุ 15 ศพที่ยะลา

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

15 ศพที่ยะลา : คอลัมน์ บทบรรณาธิการ – เหตุการณ์ความรุนแรงที่ชายแดนใต้ค่ำวันที่ 5 พ.ย. หลังประเทศไทยเพิ่งเสร็จสิ้นการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน เป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่มีพลเรือนเสียชีวิตถึง 15 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิง 3 ราย

จุดเกิดเหตุอยู่ที่ป้อมยามชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านทุ่งสะเดา ตำบลลำพะยา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา

เจ้าหน้าที่ความมั่นคงประเมินว่า การทำร้ายชาวบ้านที่อ่อนแอไร้อาวุธ ของกลุ่มคนร้ายที่มีจำนวนไม่มากและรีบล่าถอยอย่างรวดเร็ว มีเป้าหมายเพื่อสร้างภาพข่าวให้คนไทยตกใจทั้งประเทศ

ผลของปฏิบัติการทำให้ประชาชนตกใจและสะเทือนใจเช่นนั้นจริง

หลังเหตุการณ์ดังกล่าว แม่ทัพภาค 4 แจ้งว่าได้ประสานงานภาคประชาสังคม ปลุกพี่น้องประชาชน 290 ตำบล ประชาชนกว่า 2 ล้านคน ให้ออกมาต่อต้านเหตุการณ์เหล่านี้

ขณะที่องค์กรสิทธิมนุษยชน รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ออกแถลงการณ์ประณามการใช้ความรุนแรง แสดงความเสียใจแก่ญาติมิตรของผู้เคราะห์ร้าย ให้กำลังใจแก่ประชาชนและชุมชนในพื้นที่ ตลอดจนเจ้าหน้าที่

รวมถึงการสนับสนุนให้รัฐช่วยเหลือและเยียวยาแก่ครอบครัวของผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และผู้ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งเพิ่มมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยในพื้นที่

หากการปลุกชาวบ้านให้ต่อต้านเหตุการณ์อยู่ในกรอบนี้ จะไม่เสี่ยงต่อการปลุกความขัดแย้ง ความหวาดระแวงหรือความเกลียดชังขึ้นในพื้นที่

ปัญหาความรุนแรงและความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนใต้มักเกิดจากการเหมารวมและตีขลุม จนบางครั้งผู้ไม่เกี่ยวข้องได้รับ ผลกระทบไปด้วย

ความมุ่งมั่นในการจับตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่รัฐต้องเรียนรู้บทเรียนในอดีต เพื่อไม่ให้สถานการณ์บานปลาย หรือเกิดผลกระทบข้างเคียงทางลบ

ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงลักษณะนี้เกิดขึ้น จำเป็นต้องควบคุมอารมณ์ของคนในสังคมเพื่อให้มีสติ แยกแยะ ไม่ใช้ความโกรธแค้น ที่จะส่งเสริมวงจรความรุนแรงไม่จบสิ้น

ที่สำคัญเจ้าหน้าที่รัฐต้องสร้างความเชื่อมั่นและความไว้ใจแก่ชาวบ้านในพื้นที่ ไม่ให้ตีห่างออกไปอีก

 

…อ่าน…

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน