ลงพื้นที่

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ลงพื้นที่การเดินทางลงพื้นที่จังหวัดราชบุรีของนายกรัฐมนตรีและคณะ วันที่ 11 .. เป็นประเด็นถกเถียงในสังคมตั้งแต่ก่อนเดินทางมาถึง ว่าด้วยเรื่องปิดโรงเรียนเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจาก การจราจร

เป็นอีกครั้งที่สะท้อนว่าการลงพื้นที่ของผู้นำรัฐบาลมีผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบ

โฆษกทำเนียบรัฐบาลต้องออกมาชี้แจงว่า นายกรัฐมนตรีไม่ได้สั่งปิด และผู้ว่าราชการจังหวัดก็ไม่ได้สั่งเช่นกัน แต่เป็นทางโรงเรียนประกาศขอปิดเองเพราะเกรงจะกระทบดังกล่าว

ต่อมาเมื่อมีการเจรจากับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว จึงกลายเป็นมาตรการผ่อนผันให้นักเรียนที่มาช้ากว่าเวลาเข้าเรียน โดยไม่ถือว่ามาสายหรือขาดเรียน

น่าสงสัยว่าหากกรณีนี้ไม่เป็นข่าว การปิดโรงเรียนเพื่อรับผู้นำรัฐบาลจะยังปิดเหมือนเดิมหรือไม่

ก่อนหน้า ครม.สัญจรทริปนี้ นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ มีกลุ่มสมัชชาคนจนเขื่อนราษีไศลเขื่อนหัวนา มาชุมนุมบริเวณหน้าร..ราษีไศล เพื่อต้องการที่จะเข้าไปยื่นข้อเรียกร้องกับนายกฯ และกระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ต้องทำหน้าที่สกัดกั้นไม่ให้เข้าใกล้บริเวณที่ นายกฯ ปฏิบัติภารกิจ

แม้เหตุการณ์จะลงเอยอย่างคลี่คลาย มีตัวแทนมารับเรื่องร้องทุกข์ของชาวบ้าน แต่หัวหน้ารัฐบาลพลาดโอกาสที่จะรับฟังความทุกข์ร้อนโดยตรงจากผู้เดือดร้อน

แน่นอนว่าการรักษาความปลอดภัยของผู้นำประเทศเป็นเรื่องสำคัญ แต่หากการลงพื้นที่เป็นไปตามกรอบทางราชการที่กำหนดไว้ทั้งหมด รัฐบาลจะมองเห็น หรือสะท้อนภาพการมองเห็นปัญหาต่างๆ ออกไปได้อย่างไร

หากการลงพื้นที่ต่างจังหวัดของรัฐบาลเป็นการจัดเตรียมของภาคราชการ ฐานเสียง หรือบุคคลใกล้ชิดแวดล้อม ผลที่ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ จะได้รับคืออะไร

ได้ภาพการทักทายยิ้มแย้มแจ่มใส ไร้ทุกข์ไร้ปัญหา หรือคือการอ่านรายงานชื่นชมนโยบายของรัฐ เท่านั้นหรือ

โอกาสที่จะได้ใกล้ชิดและรับฟังชาวบ้านพูดตรงไปตรงมาจะมีได้หรือไม่

โอกาสที่จะสัมผัสถึงการเติบโตของเมือง การรับรู้ความไม่สะดวกสบายต่างๆ ของชาวบ้านตามสภาพความเป็นจริง หายไปหรือไม่

รัฐบาลน่าจะทบทวนว่าจัด ครม.สัญจรเพื่ออะไร

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน