กฎหมายชายแดนใต้

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

กฎหมายชายแดนใต้ – ช่วงเวลาใกล้เคียงกันนี้เมื่อปี 2561 ผู้นำประเทศระบุว่า สถานการณ์ชายแดนภาคใต้มีแนวโน้มดีขึ้นทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนา การมีส่วนร่วมของประชาชน ความ สงบสุข และเรื่องความปลอดภัย คล้ายจะบอกว่าการดำเนินนโยบายของรัฐบาลมาถูกทางแล้ว

แต่เข้าสู่ช่วงปลายปีนี้ เมื่อเกิดเหตุโจมตีป้อมชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน บ้านทางลุ่ม หมู่ 5 ต.ลำพะยา อ.เมือง จ.ยะลา มีผู้เสียชีวิตถึง 15 ราย อาจต้องปรับหาข้อสรุปใหม่

โดยเฉพาะเพิ่งมีประกาศราชกิจจานุเบกษา ระบุการให้อำนาจ ผอ.รมน.ประกาศเคอร์ฟิวได้

แม้ต่อมาผู้นำประเทศย้ำว่าขณะนี้ยังไม่ประกาศเคอร์ฟิว แต่ถ้ามีจะกำหนดระยะการใช้ให้สั้นที่สุด

นอกจากอำนาจในการประกาศเคอร์ฟิว ยังมีอำนาจตามกฎหมายความมั่นคงอื่นๆ ที่เกิดเป็นข้อถกเถียงอย่างกว้างขวาง รวมถึงในกลุ่มสมาชิกสภา

ปัจจุบันมีกฎหมายพิเศษ 3 ฉบับที่ประกาศใช้ในพื้นที่ชายแดนใต้ ได้แก่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ความมั่นคง และกฎอัยการศึก

โดยปกติอำนาจประกาศเคอร์ฟิวจะใช้ในกฎอัยการศึก แต่ล่าสุดอยู่ในพ.ร.บ.ความมั่นคงเพื่อความสะดวกของเจ้าหน้าที่รัฐ

แต่ความสะดวกของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้ประชาชนทั่วไปอุ่นใจหรือหวั่นใจมาก กว่าเดิม เป็นเรื่องที่รัฐบาลควรประเมินให้ถูกต้องตามความเป็นจริง

การกล่าวโดยสรุปของผู้นำประเทศว่า การบังคับใช้กฎหมายบางตัวในพื้นที่ ประชาชนเห็นด้วยเพราะเห็นว่าเกิดประโยชน์และไม่ได้เดือดร้อน แต่คนที่มักมีปัญหาเรื่องนี้คือคนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ มองแต่เรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างเดียว

พร้อมยืนยันว่าไม่มีเจ้าหน้าที่รายใดต้องการละเมิดสิทธิมนุษยชนใครทั้งสิ้น อีกทั้งให้เปรียบเทียบสิ่งที่คนร้ายทำว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนประชาชนหรือไม่

คำตอบนี้มีความชัดเจนอยู่แล้วว่า ผู้ก่อการ ที่ใช้ความรุนแรงทำร้ายหรือเอาชีวิตพลเรือน คือผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน

แต่ไม่ควรนำสองประเด็นนี้มาเชื่อมโยงกัน เพราะถึงอย่างไรผู้รักษากฎหมายจะต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และไม่ใช้กฎหมายพิเศษใดๆ ในการทำเช่นนั้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน