เงินอนาคต

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

แนวคิดการใช้ประโยชน์จากกองทุนประกันสังคม ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้สำนักงานประกันสังคม หรือ สปส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาแนวทางความเป็นไปได้ นำเงินกองทุนประกันสังคมมาให้ผู้ประกันตนกู้ยืม เพื่อลงทุน รายจ่ายความจำเป็น อื่นๆ เป็นเรื่องชัดเจนว่า ทำไม่ได้

เพราะตามพ.ร.บ.กองทุนประกันสังคม พ.ศ.2533 ไม่ได้ให้อำนาจ สปส.นำเงินประกันสังคมไปปล่อยสินเชื่อได้โดยตรง เพราะไม่ใช่สถาบันทางการเงินตามระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

อีกทั้งการให้กู้ยังผิดวัตถุประสงค์ของกองทุน ที่จะต้องจ่ายประโยชน์ทดแทนให้แก่ผู้ประกันตน

คำถามตามมาคือจะมีการผลักดันให้พิจารณาแก้ไขกฎหมายต่อไปหรือไม่

จากคำแถลงของรัฐบาล ยังคงสนับสนุนให้คณะกรรมการกองทุนประกันสังคมพิจารณานำเงินกองทุนไปจัดทำโครงการลงทุนทางสังคมได้ โดยนำเงินฝากกับสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการไปปล่อยสินเชื่อตามหลักเกณฑ์ที่สถาบันการเงินกำหนด

หรือที่เรียกว่าเป็นการให้สินเชื่อทางสังคมโดยอ้อม

แม้ระบุว่าทุกอย่างต้องทำด้วยความรอบคอบ ตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายและระเบียบ รวมถึง กรอบงบประมาณที่มีอยู่

แต่แนวทางการใช้เงินอนาคตที่มีความเสี่ยงแบบนี้ ย่อมทำให้เกิดข้อวิตกและเกิดคำถามมากมาย

ข้อสังเกตส่วนหนึ่งจากสมาชิกเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน หากเป็นการให้ผู้ประกันตนในลักษณะของการนำเงินบำเหน็จบำนาญบางส่วนใช้โดยมีเงื่อนไข เมื่อถึงวันรับเงินบำนาญ เงินจะลดน้อยลง เพราะต้องหักส่วนที่เอาไปใช้ก่อนแล้ว

หากมีการแก้ไขกฎหมายให้กู้ยืมจะเกิดปัญหา ผู้ประกันตนหลั่งไหลเข้ามากู้ หรือหากมีข้อบังคับ หรือข้อจำกัด เช่น ปล่อยกู้ให้กับนายจ้าง หรือผู้ประกอบการ ซึ่งเคยทำมาแล้ว โดยทำเป็นโครงการร่วมกับทางธนาคาร ก็จะมีเงื่อนไขมากมาย จนเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ

โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาสถานการณ์เศรษฐกิจ ขณะนี้ที่มีการเลิกจ้างมากขึ้น คำถามพื้นๆ ก็คือ หากกู้ไปแล้วจะเอาเงินที่ไหนจ่ายคืน

ประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องอ่อนไหวและกระทบจิตใจผู้คนมากเป็นพิเศษ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน