คำวินิจฉัยศาล รธน. ‘ธนาธร’พ้นส.ส.

รายงานพิเศษ

หมายเหตุ : เมื่อวันที่ 20 พ.ย. องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยสมาชิกภาพส.ส.ของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่(อนค.) สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) ต้องพ้นจากการเป็นส.ส. นับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน นับตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค.2562 เนื่องจากถือหุ้นสื่อ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เข้าลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส. คดีนี้มีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ร้อง

ส่วนคำวิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีดังนี้

ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 23 ม.ค.2562 ได้มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งส.ส.เป็นการทั่วไป และวันที่ 24 ม.ค.2562 มีประกาศให้เลือกตั้ง กำหนดวันเลือกตั้ง วันรับสมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และจัดส่งรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ โดยกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 มี.ค. และกำหนดให้พรรคการเมืองที่จะประสงค์ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ส่งรายชื่อในวันที่ 4-8 ก.พ.

พรรคอนาคตใหม่ได้ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง วันที่ 6 ก.พ. ซึ่งมีรายชื่อผู้ถูกร้องอยู่ในลำดับที่ 1 ต่อมาวันที่ 8 พ.ค. มีประกาศผลการเลือกตั้ง โดยมีชื่อผู้ถูกร้องเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ แต่ผู้ถูกร้องถือครองหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค.2562 โดยรับหุ้นจากนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดา ต่อมาบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ได้แสดงสำเนารายชื่อผู้ถือหุ้น ปรากฏชื่อนางสมพรถือหุ้น

ในมาตรา 101 (6) สมาชิกภาพของส.ส.สิ้นสุดลงเมื่อมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 (3) บัญญัติให้บุคคลที่เป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใดๆ เป็นบุคคลต้องห้ามและไม่ให้ใช้สิทธิรับสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.

ดังนั้น จึงเป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญได้มีข้อห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.มาใช้ตัดสินสมาชิกภาพของส.ส.ตามมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) ด้วย เพื่อไม่ให้ผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในสื่อหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใดๆ อาศัยความได้เปรียบจากการเป็นเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ หรือเป็นโทษต่อบุคคลใดทางการเมือง และเพื่อเป็นการป้องกันการใช้อำนาจทางสื่อมวลชน อาจเป็นการทำให้สื่อมวลชนไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้

ข้อที่ผู้ถูกร้องโต้แย้งว่า กระบวนการไต่สวนและการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญของผู้ร้องคือ กกต. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในมาตรา 84 วรรคสี่ บัญญัติให้ กกต.มีหน้าที่และอำนาจยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในกรณีที่เห็นว่าสมาชิกภาพความเป็นส.ส.สิ้นสุดลงตามมาตรา 82 วรรคหนึ่ง กกต.ได้มีมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2562 และวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพความเป็นส.ส.ของผู้ถูกร้อง สิ้นสุดลงตามมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) และได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น คำร้องของผู้ร้องจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ข้อที่ผู้ถูกร้องโต้แย้งที่ 2 ว่า บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด มิได้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใดๆ เนื่องจากการจดแจ้งการพิมพ์ปี 2560 มีเจตนารมณ์วางหลักเกณฑ์ในการจดแจ้งการพิมพ์เป็นหลักฐานว่าผู้ใดเป็นผู้พิมพ์ โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการ เพื่อกำหนดการตรวจสอบของประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการฟ้องร้องดำเนินคดี

โดยมาตรา 4 ได้นิยามคำว่า หนังสือพิมพ์หมายความว่า สิ่งพิมพ์ที่มีชื่อ สามารถบอกถึงเจตนา มีข้อความ ต่อเนื่องกัน ได้หมายความรวมถึงนิตยสาร วารสาร สิ่งพิมพ์ที่มีการพูดถึงทำนองเดียวกัน และในมาตรา 11 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า หนังสือพิมพ์สื่อใดต้องมีการจดแจ้งต่อพระราชบัญญัตินี้

และมาตรา 18 บัญญัติไว้ว่า ผู้พิมพ์ โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการ ต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบเพื่อยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงกิจการภายใน 30 วัน แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ไปจดแจ้งยกเลิกการพิมพ์ก่อนวันที่ 6 ก.พ.2562 ซึ่งเป็นวันที่พรรคอนาคตใหม่ส่งรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ

นอกจากนี้บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ยังจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการโฆษณาในหนังสือพิมพ์ แผ่นป้าย กระจายเสียงทางวิทยุ โทรทัศน์และเคเบิลทีวี งบการเงินที่ยื่นต่อกรมธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ รอบปี 2559, 2560 และ 2561 ระบุว่ามีรายได้จากการโฆษณา ดังนั้น แม้ว่าบริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัด จะอ้างว่าหยุดกิจการ เลิกจ้าง พนักงานตั้งแต่วันที่ 12 พ.ย.2561 เป็นต้นมา และแจ้งต่อสำนักงานประกันสังคมแล้ว

แต่บริษัทยังสามารถประกอบกิจการอีกเมื่อไรก็ได้

จนกว่าจะจดทะเบียนแจ้งยกเลิกกิจการ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด จึงถือเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการสื่อมวลชนอยู่จนถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.

ข้อโต้แย้งที่ 3 นายธนาธร อ้างว่าในวันสมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด แล้วเพราะได้โอนหุ้นให้นางสมพร ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.2562 แต่จากการไต่สวนพบว่าแบบสำเนารายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) ที่ยื่นต่อกรมธุรกิจการค้า ในวันที่ 12 ม.ค.2558 และ 21 มี.ค.2562 ยังปรากฏชื่อนายธนาธร เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทดังกล่าวจำนวน 675,000 หุ้น จนกระทั่งเมื่อวันที่ 21 มี.ค.2562 จึงมีการส่งสำเนา บอจ.5 ระบุว่านางสมพรเป็นผู้ถือหุ้นดังกล่าว

ข้อชี้แจงว่า มีการโอนหุ้นที่ปรากฏตามตราสารการโอนหุ้น มีลายมือชื่อ น.ส.ลาวัลย์ จันทร์เกษม น.ส.กานต์ฐิตา อ่วมขำ เป็นพยาน และมีการจ่ายค่าตอบแทนในการโอนหุ้นจำนวน 6.7 ล้านบาท เป็นเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา ลงวันที่ 8 ม.ค.2562 สั่งจ่ายนายธนาธร ต่อมามีการโอนหุ้นให้นายทวี จรุงสถิตพงศ์ และโอนกลับคืนให้นางสมพร โดยไม่มีค่าตอบแทน

ทำให้ต้องวินิจฉัยในข้อเท็จจริงว่านายธนาธรโอนหุ้นจริงหรือไม่ โดยพบว่าในทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นบริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัด จะมีการส่งรายชื่อตาม บอจ. 5 ให้กรมธุรกิจการค้าโดยเร็ว เป็นปกติทุกครั้ง เช่น ในปี 2552 จัดส่งบัญชีภายในวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น หรือในการประชุม ปี 2558 ก็จัดส่งบัญชีภายในวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นการโอนหุ้นของนางสมพร ให้นายธนาธร

แต่การโอนหุ้นในวันที่ 8 ม.ค.2562 กลับไม่ปรากฏการส่งสำเนา บอจ.5 ทั้งที่เป็นหลักฐานสำคัญในการเข้าสู่การเมืองของนายธนาธร ซึ่งผิดปกติไปจากที่ผ่านมา ทั้งที่มีความสำคัญต่อการดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะจะทำให้มีลักษณะต้องห้าม

แม้ฝ่ายนายธนาธร จะแก้ข้อกล่าวหาโดยให้เหตุผลว่า ไม่ได้ส่งสำเนา บอจ. 5 ในทันที เพราะมีการเลิกจ้างพนักงาน จึงไม่มีนักบัญชีมาติดตามจัดการหลักฐานทางทะเบียนดังเช่นตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งขัดแย้งกับคำให้การของน.ส.ลาวัลย์ ที่ระบุว่า สามารถทำได้ถ้ามีคำสั่งให้ทำ เพราะน.ส.ลาวัลย์มีหน้าที่แจ้งแบบสำเนา บอจ. 5 อยู่แล้ว ประกอบกับการยื่นเอกสารดังกล่าว สามารถกระทำได้โดยไม่มีความยุ่งยาก โดยบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด จัดส่งสำเนา บอจ. 5 งบดุล ทางอิเล็กทรอนิกส์ มาตั้งแต่ปี 2559-2561

ส่วนประเด็นที่นางสมพรสั่งจ่ายเช็คค่าหุ้น วงเงิน 6.75 ล้านบาท แต่กลับนำเช็คไปขึ้นเงินตรงกับวันที่กกต. ส่งคำร้องให้ศาลวินิจฉัย ซึ่งเป็นเวลานานถึง 128 วัน ทั้งที่ประมวลกฎหมายแพ่ง กำหนดให้ผู้ทรงเช็คมีหน้าที่นำเช็คไปยื่นต่อธนาคารเพื่อให้ขึ้นเงินภายใน 1 เดือน กรณีเช็คต่างเมืองให้เวลา 3 เดือน โดยคดีนี้เป็นเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ เจ้าของเช็คจึงมีหน้าที่นำไปขึ้นเงินภายในวันที่ 8 ก.พ.2562

และเมื่อตรวจสอบย้อนหลัง 3 ปี พบว่าเช็ควงเงินตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป บริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัด จะเรียกเก็บเงินภายใน 42-45 วัน แต่ในการเรียกเก็บเช็คฉบับลงวันที่ 8 ม.ค.2562 กลับใช้เวลาถึง 128 วัน ส่วนเช็คบางฉบับที่ใช้เวลา 98 วันในการขึ้นเงิน ก็มียอดเงินเพียง 27,000 บาทเท่านั้น

ข้ออ้างที่นางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ (ภรรยานายธนาธร) เบิกความว่าไม่สะดวกจะนำเช็คไปขึ้นเงิน เพราะต้องดูแลบุตรซึ่งเป็นเด็กทารก รวมถึงยังอ้างว่าทนายความนำเช็คต้นฉบับไปใช้ต่อสู้คดี ก็ขัดแย้งกับหนังสือของ กกต. ที่ชี้แจงต่อเลขาธิการ กกต.ว่า นายธนาธรส่งสำเนาเช็คมาชี้แจงเท่านั้น ไม่ได้ส่งเช็คต้นฉบับมาแต่อย่างใด แสดงให้เห็นว่านางรวิพรรณสามารถนำเช็คเข้าบัญชีได้ตั้งแต่ 9 ม.ค.2562

ข้อโต้แย้งจึงไม่มีน้ำหนัก เชื่อถือไม่ได้ เพราะเป็นเช็คขีดคร่อม โอนไปยังบุคคลอื่นไม่ได้ สามารถมอบอำนาจให้บุคคลอื่นดำเนินการแทนได้ เพราะนางรวิพรรณ ก็ไม่มีชื่อเป็นผู้รับเงินตามเช็ค จึงไม่ต้องรอเวลาถึง 4 เดือนเศษ

สําหรับประเด็นที่นางสมพรโอนหุ้นให้แก่นายทวี จรุงสถิตพงศ์ หลานชาย แล้วต่อมาได้โอนกลับคืนนางสมพรนั้น ศาลเห็นว่า การโอนหุ้นให้และการโอนหุ้นคืนโดยไม่มีค่าตอบแทนตามที่อ้างความสัมพันธ์เครือญาติ ย้อนแย้งกับการโอนหุ้นให้กับนายธนาธร ซึ่งเป็นบุตร แม้นางสมพรจะอ้างว่าต้องการให้นายทวี เข้ามาช่วยฟื้นฟูกิจการ แต่การโอนหุ้นโดยไม่มีค่าตอบแทน ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ เพราะเอกสารต่างๆบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด สามารถจัดการได้เองในภายหลัง

อีกทั้งการโอนหุ้นคืนภายในเวลา 2 เดือนเศษ โดยอ้างว่าศึกษาแล้วต้องใช้เงินลงทุนอีกหลายล้านบาท ข้อเท็จจริงส่วนนี้ขัดกับปกติวิสัยของนักลงทุนทั่วไป ที่ต้องศึกษาแผน และทดลองปฏิบัติตามแผนเสียก่อน และเมื่อเทียบกับสถานะทางเศรษฐกิจของนางสมพรแล้ว การอ้างว่ากิจการบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด มีหนี้สิน 10 ล้านบาท ก็ต่างจากงบดุลที่นำส่ง โดยแจ้งว่ามีลูกหนี้เพียง 2 ล้านบาทเศษ จำนวนเงินดังกล่าวไม่ตรงกัน

หนี้สินจำนวนไม่มาก การทวงถามและวิเคราะห์โครงสร้าง สามารถให้ทนายความหรือผู้เชี่ยวชาญดำเนินการแทนได้ โดยไม่จำเป็นต้องโอนหุ้นให้หลานก็ได้ เพราะการเป็นผู้ถือหุ้นไม่มีอำนาจบริหารติดตามหนี้สิน หรือบริหารเงินสด

การที่ผู้ถูกร้องอ้างว่าโอนหุ้นกันในวันที่ 8 ม.ค.2562 โดยมีพยานบุคคลกลุ่มเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากเอกสารหลักฐานต่างๆ แล้ว เห็นว่าล้วนเป็นการกล่าวอ้างเพียงให้เจือสมกับหลักฐานที่ปรากฏตาม บอจ. 5 ที่โอนหุ้นกลับคืนจากนายทวี

ส่วนข้อโต้แย้งเรื่องการเดินทางกลับจากการปราศรัย จ.บุรีรัมย์ มายังบ้านพักในกรุงเทพฯ ในวันที่ 8 ม.ค.2562 เพื่อโอนหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ให้กับนางสมพรนั้น แม้จะฟังได้ว่าเดินทางกลับมาจริง แต่ข้อเท็จจริงฟังได้เพียงว่านายธนาธรอยู่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น ไม่ได้หมายความว่ามีการโอนหุ้นในวันดังกล่าวจริง เพราะการโอนหุ้นต้องพิจารณาจากหลักฐานทั้งปวง

แม้ผู้ถูกร้องจะมีพยานหลักฐานมาแสดง แต่การโอนหุ้นจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อต้องจดแจ้งต่อนายทะเบียน กรณีนี้ จึงมีข้อพิรุธหลายจุด หลายประการ สอดรับแน่นหนาจากพฤติการณ์แวดล้อมมากกว่าพยานของผู้ถูกร้อง และมีน้ำหนักหักล้างพยานของผู้ถูกร้อง

ฟังได้ว่านายธนาธรเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งประกอบกิจการสื่อสิ่งพิมพ์ ในวันที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ

ฉะนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยด้วยเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 ว่า

ผู้ถูกร้องเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งประกอบกิจการสื่อมวลชนในวันที่ 6 ก.พ.2562 ซึ่งเป็นวันที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นบัญชี รายชื่อผู้สมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อต่อผู้ร้อง อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ผู้ถูกร้องใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งส.ส. มาตรา 98 (3)

ทำให้สมาชิกภาพของนายธนาธรสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค.2562 ซึ่งเป็นวันที่ศาลได้สั่งให้นายธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่

และให้ถือว่าวันที่ศาลอ่านคำวินิจฉัย หรือวันที่ 20 พ.ย.เป็นวันที่ตำแหน่งส.ส.ว่างลง ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อเลื่อนรายชื่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในลำดับถัดไปแทนตำแหน่งที่ว่างลงภายใน 7 วัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน