FootNote : ลักษณะ สงครามยืดเยื้อ ยาวนาน จากไทยรักไทย มายัง อนาคตใหม่

สถานการณ์สงครามในยุคของพรรคอนาคตใหม่มีความแตกต่างไปจากสงครามในยุคของพรรคไทยรักไทย ในยุคของพรรคพลังประชาชน และในยุคของพรรคเพื่อไทยอย่างเห็นได้ชัด
ในยุคพรรคไทยรักไทยเมื่อเกิดรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 นายทักษิณ ชินวัตร ก็กลับประเทศไม่ได้
แม้ภายหลังการเลือกตั้งเดือนธันวาคม 2550 นายทักษิณ ชินวัตร จะสามารถหวนกลับมา “ซบกายลงจูบดิน” แต่ด้วยระยะเวลาอันสั้นเมื่อมีการเปิดปฏิบัติการ “ลอว์แฟร์”
นายทักษิณ ชินวัตร ก็กลายเป็น “บักน่อยตุหรัดตุเหร่”
แต่สงครามที่เริ่มด้วยคดีวี-ลัคมีเดีย แม้จะส่งผลให้ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พ้นสภาพการเป็น ส.ส.
แต่ไม่ควรมองข้ามก็คือ ยังมีอีก 24 คดี

จำนวน 24 คดีหากประเมินในด้านของพรรคอนาคตใหม่ ในด้านของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อาจสร้างปัญหา อาจนำความปั่นป่วนมาให้อย่างไม่ขาดสาย
เพราะหมายถึงโอกาสที่จะนำไปสู่การยุบพรรคอนาคตใหม่ นำไปสู่การตัดสิทธิทางการเมือง
แต่ก็อย่างที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล แสดงออกทันทีที่รับทราบคำวินิจฉัยตัดสินจากศาลรัฐธรรมนูญ นั่นก็คือ พร้อมเดินหน้าต่อสู้ในทุกคดีที่จะเข้ามา
นี่คือจุดต่างอย่างเห็นได้ชัดจากยุคพรรคไทยรักไทยจากยุค นายทักษิณ ชินวัตร
ผลก็คือเกิดภาวะ “สงครามยืดเยื้อ” ขึ้นในทางการเมือง
คล้ายกับจำนวน 20 กว่าคดีจะสะท้อนลักษณะ “รุก” ของอีกฝ่าย แต่นั่นก็มิได้หมายความว่าอีกฝ่ายจะถอยอย่างยะย่ายพ่ายจะแจ

ไม่ว่าลักษณะสงครามยุคกรีก ไม่ว่าลักษณะสงครามยุคฮิตเลอร์ ไม่ว่า ลักษณะสงครามยุคเวียตนาม หรือลักษณะสงครามยุคอัฟกานิสถาน
ล้วนต้องการรบเร็ว ชนะเร็ว
สงครามยืดเยื้อเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนและสร้างความยุ่งยากให้ไม่เพียงแต่ฝ่ายที่ตั้งรับ หากฝ่ายที่รุกก็ไม่ปรารถนา
ยิ่งเป็นสงคราม “การเมือง” ยิ่งเป็นปัจจัยที่ต้องหลีกเลี่ยง
ประการสำคัญคู่ต่อสู้ที่เผชิญมิได้มีเพียงแต่พรรคอนาคตใหม่ หรือ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เท่านั้น
หากแต่ยังมีศัตรูที่สะสมมาตั้งแต่รัฐประหาร 2549 อีกด้วย

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน