คอลัมน์ รายงานพิเศษ

เกิดการเคลื่อนไหวต่อเนื่อง หลังจากหมุดคณะราษฎร ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า อันมีข้อความว่า “ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ” ถูกสับเปลี่ยนด้วยหมุดใหม่พร้อมข้อความว่า

“ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง” และ “ขอประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์ หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน”

ล่าสุดพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งให้ฝ่ายความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ติดตามสืบสวนแล้ว

นักวิชาการมีมุมมอง ดังนี้

1.ชำนาญ จันทร์เรือง

นักกฎหมายมหาชน

หมุดคณะราษฎร มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ เพื่อ การระลึกถึงการ อภิวัฒน์สยาม โดยคณะราษฎร ที่ผ่านมาแล้ว 85 ปี

ต่อให้ไม่มีหมุดนี้อยู่ ประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ แน่นอนไม่ใช่เรื่องขาดใจอะไรที่หมุดนี้หายไป

แต่ประเด็นอยู่ที่การลักลอบนำหมุดใหม่เข้ามาแทนที่หมุดเก่าอย่างเงียบๆ ทั้งที่หากจะมีการเปลี่ยนแปลง แล้วทำโดยเปิดเผย ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร อยากจะนำเอาหมุดใหม่มาวางคู่หมุดเก่าก็ได้ หรือจะย้ายไปเก็บที่ไหนก็ควรแจ้งให้สาธารณชนรับรู้ เหมือน อนุสาวรีย์หลักสี่ ที่มีการเคลื่อนย้าย เพื่อหลบแนวรถไฟฟ้า ก็ไม่มีปัญหาอะไร มีเหตุผลที่ฟังขึ้น

การกระทำลักษณะนี้สะท้อนถึงความมุ่งหวังว่า ต้องการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ ย่ำยีหัวใจคนไทย ไม่สนใจประชาชนอีกจำนวนหนึ่งที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงประเทศโดยกลุ่มคณะราษฎร

ด้านมาตรการการรับมือของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนี้ ก็ทำไม่ดี ให้ความเห็นไม่สนใจประชาชน ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าฯกทม.ที่ระบุว่า เกิดไม่ทันสมัยตอกหมุด หรือพล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร.บอกว่า ไม่อาจรับแจ้งความได้ เพราะไม่มีผู้มีส่วน ได้เสีย

ขณะเดียวกันเหตุการณ์ที่ตามมามีการควบคุมตัวคนเรียกร้องทวงคืนเข้าค่ายทหาร ห้ามปรามการแสดงความคิดเห็นของประชาชนบนสื่อออนไลน์ต่อกรณีดังกล่าว ด้วยการ อ้างพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบ พ่วงด้วย กฎหมายอาญา มาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่น ทั้งที่ความเห็น ในสังคมออนไลน์คือเสรีภาพในการพูด ไม่ใช่ข้อมูลข้อเท็จจริง

ตรงส่วนนี้จะทำให้สถานการณ์ยิ่งไปกันใหญ่ สะท้อนถึงลักษณะอำนาจนิยม

ที่สำคัญกระทบต่อการปรองดองอย่างแน่นอน ตอกย้ำว่าฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยไม่ประนีประนอมแน่

อยากเรียกร้องให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะนักการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และรัฐมนตรีทุกคน ช่วยกันเรียกร้อง เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า อำนาจตามตำแหน่งทางบริหาร และนิติบัญญัตินั้น เป็นผลพวงของการอภิวัตน์สยาม 2475 โดยตรง

ถ้าไม่มีคณะราษฎร คนกลุ่มนี้จะไม่มีทางเข้าสู่อำนาจเหล่านั้นได้ จึงควรร่วมกันแสดงออกเรียกร้องด้วย

2.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร

นักวิชาการอิสระ ด้านรัฐศาสตร์

จริงๆ โดยทั่วไป เรื่องหมุด ถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของคณะราษฎร เขาถึงได้ทำไว้เป็นหมุดประชาธิปไตย แต่ตอนเอามานัก การเมืองไม่ให้ความสนใจ ไม่เข้าใจเนื้อแท้ของประชาธิปไตย โดยละเลยองค์ประกอบสำคัญของสัญลักษณ์หลักไป ซึ่งหมุดถือเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง

เชื่อว่าคณะราษฎรปักหมุดไว้เหมือนลงเสาเข็มบ้าน ลงเสาเอกของบ้าน คณะราษฎรต้องลงหมุด เพื่อย้ำให้เห็นว่า เราเริ่มต้นประชาธิปไตย ณ ที่นี้ แผ่นดินนี้ แต่ก็มีเรื่องเกิดขึ้นมา อาจมีคนหวังดีหรือไม่หวังดีก็ไม่รู้

แต่เรื่องที่เกิดขึ้นทำให้ความตื่นเต้นของสังคมน้อยไปหน่อย ทำให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองพูดได้เต็มปากว่าหมุดที่ถูกเปลี่ยนไปนั้น ไม่มีเจ้าของ

ส่วนกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าหมุดไม่มีเจ้าของนั้น เห็นว่าถ้าหมุดเป็นความสำคัญ แล้วตำรวจพูดอย่างนั้นก็โดนโห่

การพูดอย่างนั้นเป็นการพูดไปตามข้อกฎหมาย ที่เป็นการเลี่ยงบาลี เพราะจริงๆ แล้ว ถ้าประชาชนเห็นความสำคัญคือประชาชนเป็นเจ้าของ ถ้าพวกที่ยอมรับในความเป็นประชาธิปไตยว่าเป็นสิ่งที่ดีก็เป็นเจ้าของร่วมกัน แต่เราไม่ให้ความสำคัญ ความเป็นเจ้าของจึงมีน้อย

ขณะนี้สังคมไม่ได้ให้ความสำคัญมากเท่าที่ควร เลยไม่มีความกระตือรือร้น แต่หากเป็นผู้รักประชาธิปไตยมีความเป็นเจ้าของ ถึงแม้ไม่เป็นไปตามกฎหมาย แต่เป็นสัญลักษณ์ เอาง่ายๆ เหมือนวางพวงมาลา ก็เป็นสัญลักษณ์ ไม่มีใครกล้าแตะ

เรื่องนี้ถือเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลโดยตรงที่ต้องทำความจริงให้กระจ่างว่าใครเป็นคนเอาไป เอาไปเพื่ออะไร ต้องพิสูจน์ให้ได้ รัฐบาลต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ถึงแม้ดูแล้วอาจจะไม่รู้เรื่องก็ตาม

เรื่องที่เกิดขึ้นหากหาคนทำผิดไม่ได้ คงกระทบรัฐบาลไม่มากนัก เพราะรัฐบาลมีเรื่องที่รับผิดชอบเยอะ และหากดำเนินการแล้วยัง หาคนที่ขโมยหมุดไปมาลงโทษไม่ได้ ต้องมีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ว่าหมุดของคณะราษฎรหายไป เพื่อให้เกิดความกระจ่างแก่สังคม

และถ้าเจอหมุดเก่าแล้วควรนำกลับมาไว้ที่เดิมหรือไม่ เราก็ไม่รู้ว่าอันไหนแท้ อันไหนปลอม เพราะไม่ได้พิสูจน์ว่าใครเป็นคนทำหมุด มีชีวิตอยู่หรือไม่ ลักษณะของหมุดที่แท้จริงเป็นอย่างไร ข้อความมีอะไรบ้าง และมีการบันทึกไว้ในจดหมายเหตุหรือไม่ ถ้าในจดหมายเหตุไม่มีก็ไม่รู้แล้ว และต้องไปดูว่าในราชบัณฑิต มีหรือไม่ ซึ่งไม่แน่ใจว่ามีหรือไม่

ส่วนที่บางฝ่ายกังวลว่าเรื่องนี้จะกระทบต่อการสร้างความปรองดองนั้น ส่วนตัวไม่เชื่อเรื่องปรองดอง คิดว่าประเทศไทยไม่ได้ทะเลาะกัน แต่สิ่งที่อยากให้คสช.ทำคือการแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม ให้เกิด ความยุติธรรม ปัญหาของเราถูกสร้างขึ้นจากการปลุกระดม ยุยง ให้เกลียดกัน

และการที่รัฐบาลตั้งกรรมการขึ้นมาดูแลเรื่องปรองดองก็ไม่ได้เรื่องอยู่แล้ว เพราะจะตั้งคนมาจากทีมเดียวไม่ได้ ต้องเอาคนหลากหลาย เอาคนในสังคมมาช่วยแก้ไข

ดังนั้นเรื่องการสร้างความปรองดอง จึงไม่น่าเกี่ยวกับเรื่องหมุดคณะราษฎรที่ถูกเปลี่ยนไป

หมุดอาจจะถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็นได้ แต่ไม่น่าจะหนักหนาจนทำให้สถานการณ์ในบ้านเมืองเกิดการบานปลายอะไร

3.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หมุดคณะราษฎร แน่นอนว่าถือเป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง ที่สำคัญ เพราะเป็นหมุดก่อเกิดรัฐธรรมนูญ

วันที่ฝังหมุดครั้งแรกคือวันที่ 10 ธ.ค.2479 เป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มาสู่ระบบการเมืองใหม่

พูดง่ายๆ ว่าเป็นการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม

หรืออีกแง่หมายความว่าการปกครองได้มีกฎหมายที่ใช้อย่างชัดเจน สรุปคือเป็นสัญลักษณ์ของระบอบประชาธิปไตย และการมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายในการปกครองประเทศ

ทั้ง 2 เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่มีในระบอบสมบูรณาญา สิทธิราชย์ หมุดคณะราษฎรจึงถือว่ามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เป็นหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ

เมื่อวันนี้หมุดคณะราษฎรหายไปเป็นหมุดใหม่แทน คน ที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงย่อมไม่พ้นรัฐบาล และต้องทำเรื่องนี้ให้เกิดความกระจ่าง

เพราะหมุดคณะราษฎร เป็นสิ่งที่กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้สร้าง เมื่อปี 2479 ใช้งบประมาณของรัฐบาล ในการสร้าง จึงถือเป็นทรัพย์สินของทางราชการ เมื่อถูกขโมย คนที่ขโมยต้องมีความผิดตามกฎหมาย ก็เหมือนกับการขโมยของทางราชการ

อีกทั้งหมุดคณะราษฎร ยังเป็น วัตถุทางประวัติศาสตร์นับตั้งแต่ปี 2479 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งจริงๆ แล้วโดยนัยยะหมุดดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของกรมศิลปากร ใครที่จะเคลื่อนย้ายเปลี่ยนแปลงต้องแจ้งกรมศิลปากร กฎหมาย ไม่ได้อนุญาตให้ใครมาทำแบบนี้กับของทางราชการ และวัตถุทางประวัติศาสตร์ได้

จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องเป็นฝ่ายที่ติดตามจับกุม ผู้ที่ขโมยมาดำเนินคดีให้ได้

แต่หากรัฐบาลหาตัวคนเอาหมุดคณะราษฎรไปไม่ได้ คงไม่ส่งผลกระทบอะไร เพราะรัฐบาลขณะนี้จะทำอะไรก็ได้ เพียงแต่โดยหน้าที่ของรัฐบาลคือการหาคนผิดมาดำเนินคดี

ยิ่งไปกว่านั้นคนที่เอาหมุดใหม่มาใส่ได้ขออนุญาตใคร เพราะเป็นถนนหลวง เป็นเขตพระราชฐาน ถ้าไม่มีใบอนุญาตเขาไม่สามารถเอาหมุดใหม่มาใส่แบบนี้ได้

ส่วนที่ตำรวจระบุว่ายังไม่สามารถดำเนินคดีลักทรัพย์ได้ เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของหมุดนั้น ถือว่าไม่สมเหตุสมผล เพราะหมุดดังกล่าวเป็นของราชการ ถ้าคนที่พูดเขาไม่รู้ต้องมีคนไปบอกว่าเป็นของราชการ

หากเจอหมุดเดิมแน่นอนว่าต้องเอากลับมาใส่คืนที่เดิม

ส่วนเรื่องที่เกิดขึ้นจะกระทบการสร้างความปรองดองหรือไม่ ก็ไม่ทราบ แต่เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน