คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

กรณีหมุดคณะราษฎรบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าหายไป ขยายความสนใจในสังคม และขยายประเด็นในด้านการติดตามมากขึ้น เป็นลำดับ

ผู้นำประเทศระบุว่ามอบหมายให้ฝ่ายความมั่นคง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ติดตามสืบสวนสอบสวนแล้ว

หลังจากมีเจ้าหน้าที่ตั้งคำถามกับกลุ่มนักศึกษาที่เข้ามาแจ้งความว่า หมุดดังกล่าวเป็นทรัพย์มรดกของตนเองหรือเป็นทรัพย์สินของบุคคลใด และ เป็นผู้เสียหายหรือไม่

ขณะที่กรมศิลปากรแถลงชี้แจงว่า หมุดคณะราษฎรไม่ใช่โบราณวัตถุตาม ข้อกำหนดทางกฎหมายที่ใช้อยู่ เพื่อจะบ่งบอกว่ากรณีนี้มิใช่ความรับผิดชอบของหน่วยงาน

การตั้งคำถามว่าหมุดคณะราษฎรเป็นทรัพย์มรดกของผู้ใดที่จะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนติดตามหาให้นั้น เป็นการอ้างอิงหลักปฏิบัติตามกฎหมาย

ส่วนการตีความหมุดคณะราษฎรว่ามิใช่สังหา ริมทรัพย์ที่เป็นประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์ เป็นเพียงเครื่องหมายระบุตำแหน่งที่เคยมีการประกาศแถลงการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็เป็นการอ้างอิงกฎหมายเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม มีผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระบุ อีกมุมมองว่า เจ้าหน้าที่เองต้องทำความเข้าใจด้านกฎหมายเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประเทศชาติประชาชนด้วย

กรณีนี้จึงไม่เป็นเพียงถกเถียงในแง่มุมประวัติศาสตร์และสังคมเท่านั้น แต่ยังขยายไปถึงเงื่อนไขการใช้กฎหมายที่จะตอบสนองสังคมด้วย

การถกเถียงและการเคลื่อนไหวของคน ในสังคมในเรื่องหมุดคณะราษฎรจึงไม่เพียงสำคัญที่ตัวหมุด

หากเป็นความท้าทายอีกครั้งของการเดินหน้าฟื้นฟูประชาธิปไตยที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มคนซึ่งมีหน้าที่ร่างกฎหมายหรือเห็นชอบกับกฎหมาย

การเปิดกว้างเสรีภาพในการแสดงความเห็น ที่ปราศจากความรุนแรง การเรียกร้องความช่วยเหลือของประชาชนทั่วไปต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ตามกระบวนการกฎหมายจะดำเนินไปได้หรือไม่ กำลังเป็นที่จับตาทั้งภายในและภายนอกประเทศ

ประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์ของหมุดคณะราษฎรอาจยังไม่มีในทางกฎหมายในขณะนี้ แต่เป็นไปได้ที่จะมีคุณค่าต่อประชาธิปไตยเพิ่มขึ้นในอนาคต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน