ปัจจัยสนับสนุน

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ปัจจัยสนับสนุน – เมื่อเข้าสู่เดือนธันวาคม ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งว่า ธปท.จะทบทวนแนวโน้มการเติบโตของตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 2562 อีกครั้ง หลังจากคาดการณ์ว่าจะเติบโตได้ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ระดับร้อยละ 2.8

เนื่องจากผลกระทบของมาตรการกีดกันทางการค้า ที่ส่งผลกระทบกับทุกประเทศ รวมถึงไทย ซึ่งพึ่งพาการส่งออก

แต่ผู้ว่าฯ ธปท.ยังคาดหวังว่าแนวโน้มตัวเลข จีดีพีในปี 2563 จะมีโอกาสเติบโตได้ดีกว่าปี 2562 เพราะมีปัจจัยสนับสนุน อาทิ การขับเคลื่อนการลงทุนของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ตัวเงินจากพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 ไหลเข้าสู่การขับเคลื่อนด้านการลงทุนของภาครัฐ

รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และการลงทุนของภาคเอกชนที่ย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย

ขณะเดียวกัน มีรายงานที่เชื่อมโยงถึงประชาชนอย่างเด่นชัด ว่าด้วยสถานการณ์คนว่างงาน ที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุว่า ไตรมาส 3/2562 เพิ่มขึ้นทั้งผู้ที่เคยทำงานและไม่เคยทำงานมาก่อน

ผู้มีงานทำงานลดลงร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมี 38.7 ล้านคน มาอยู่ที่ 38 ล้านคน

ส่วนผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ส่วนหนึ่งเพราะเป็นช่วงที่ผู้จบการศึกษาใหม่เริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงาน

จึงน่าสงสัยว่า ปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2563 ได้คำนวณสถานการณ์นี้ไว้ด้วยหรือไม่

หรือกรณีภาวะหนี้สินครัวเรือนที่สภาพัฒน์ระบุล่าสุดว่าไตรมาส 2/2562 มีมูลค่า 13.08 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.8 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 6.3 เป็น ผลจากการชะลอตัวของสินเชื่อเพื่อซื้ออสังหา ริมทรัพย์และรถยนต์เป็นหลัก

ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงเร็วกว่าหนี้สินครัวเรือน ส่งผลให้ระดับสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ จีดีพี ยังคงเท่ากับไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 78.7

ขณะที่ยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล เพื่อการอุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 3/2562 มีมูลค่า 133,254 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ถึงร้อยละ 12.2

ปัจจัยที่ฉุดรั้งเหล่านี้จะมีผลต่อปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน