ศึกษาคำสั่งคสช.

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ข้อเสนอของส.ส.ฝ่ายค้านให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบเกี่ยวกับการใช้อำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ การออกคำสั่งของคสช. และการใช้มาตรา 44 ของ คสช. เกิดบรรยากาศวุ่นวายในสภา เมื่อคะแนนลงมติให้ตั้งกมธ. ออกมาเป็นเสียงข้างมาก จนส.ส.ฝ่ายรัฐบาลขอให้นับคะแนนใหม่

กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อื้ออึงถึงเสียงปริ่มน้ำอีกครั้ง

อันที่จริงแล้ว การศึกษาการใช้อำนาจของคสช.นี้ เป็นประโยชน์สำคัญต่อการเมืองไทย โดยเฉพาะการเรียนรู้ความผิดพลาดทางการเมืองอันเกิดจากคณะรัฐประหาร

อีกทั้งเพื่อป้องกันการรัฐประหารไม่ให้เกิดขึ้นอีกและสร้างความเสียหายใหญ่หลวง โดยเฉพาะความเสียหายด้านเวลาที่ไม่อาจฟื้นคืนได้อย่างน้อย 5 ปี

ข้อมูลจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีคำสั่งหัวหน้าคสช. 217 ฉบับ ประกาศหัวหน้าคสช. 1 ฉบับ ประกาศคสช. 133 ฉบับ และคำสั่งคสช. 214 ฉบับ รวมทั้งหมด 565 ฉบับ แม้ต่อมามีการยกเลิกประกาศคำสั่ง คสช. แล้วหลายฉบับ แต่มีอีกหลายฉบับที่ยัง ไม่ยกเลิก

ส.ส.ฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตว่า การศึกษาเรื่องนี้ไม่ใช่การเอาผิดคสช. หรือคณะรัฐประหาร แต่เป็นการศึกษาเพื่อเป็นบทเรียนว่า การออกประกาศตามคำสั่งนั้น สร้างความเสียหาย สร้างผลกระทบอย่างไรบ้าง ศึกษาเพื่อเป็นข้อเสนอแนะต่อไป

โดยเฉพาะคำสั่งบางฉบับแม้เลิกแล้วแต่เกิดผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก และควรมีแนวทางเยียวยาความเสียหายให้ประชาชนหรือไม่ อย่างไร

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่ต้องศึกษาว่า ช่วงเวลาที่คสช.ยังครองอำนาจ แม้จะมีรัฐธรรมนูญชั่วคราวแล้ว แต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มาจากคสช. ยังออกกฎหมายตราเป็นพระราชบัญญัติไปในทิศทางเดียวกับคสช. กฎหมายลักษณะดังกล่าวเอื้อประโยชน์แก่คสช.มากน้อยเพียงใด

หากกฎหมายออกมาเพื่อให้คสช.ชอบด้วยกฎหมาย จนประชาชนคลางแคลงใจ ก็ควรเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติที่จะศึกษา หรือปรับปรุงแก้ไขผลกระทบจากคำสั่งและประกาศคสช.ให้ ดีขึ้น

ณ เวลานี้เป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันอย่างตรงไปตรงมา

เพื่อไม่ให้วัฒนธรรมความไม่รับผิดชอบ และลอยนวล ลากยาวต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน