แก้ไขสภาล่ม

คอลัมน์…บทบรรณาธิการข่าวสด

แก้ไขสภาล่ม – เหตุการณ์สภาล่มสองวันติดในสัปดาห์ก่อน กำลังจะเป็นที่จับจ้องอีกครั้งในการประชุมกลางสัปดาห์นี้

โดยเฉพาะการทำหน้าที่และการตัดสินใจของสมาชิกสภาผู้แทนฯ ที่จะมีผลสะเทือนต่อภาพรวมของฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งด้านศรัทธา ความเชื่อมั่น และประสิทธิภาพ

ฝ่ายนิติบัญญัติมักตกเป็นจำเลยในวิกฤตทางการเมืองหลายครั้ง แม้ครั้งนี้ไม่ใช่สถานการณ์ถึงขั้นวิกฤต แต่ส.ส.ควรหาทางแก้ไขและป้องกันปัญหา ไม่ให้สภาล่มแล้วล่มอีกโดยไม่มีทิศทาง

เพราะสุดท้ายแล้วจะกระทบการทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชน

เหตุการณ์สภาล่มสองครั้งที่ผ่านมา ไม่เพียงส.ส.ไม่ครบองค์ประชุม แต่เพราะความขัดแย้งเรื่องลงคะแนนใหม่ และเหตุผลการนำตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากประกาศคำสั่งคสช. และคำสั่งมาตรา 44

การเสนอให้ลงคะแนนใหม่เกิดขึ้นหลังจากเสียงฝ่ายรัฐบาลพ่ายแพ้ฝ่ายค้าน อันแสดงถึงภาวะเสียงปริ่มน้ำของรัฐบาล

เนื่องจากพรรคแกนนำรัฐบาลครองที่นั่งส.ส.ในสภาเป็นอันดับสอง รองจากพรรคแกนนำฝ่ายค้านที่เป็นอันดับหนึ่งและมีพรรคอันดับสามอยู่ในซีกเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เสียงปริ่มน้ำไม่สำคัญเท่ากับจุดยืนและท่าทีที่มีต่อข้อเสนอตั้งกรรมาธิการศึกษาผลกระทบ ม.44 ซึ่งแม้แต่สมาชิกฝั่งรัฐบาลจำนวนหนึ่งก็เสนอญัตติว่าควรต้องศึกษา

ดังนั้นเสียงส่วนใหญ่ในซีกรัฐบาลจึงต้องตอบให้ได้ว่าทำไมจึงไม่เห็นด้วย

การอภิปรายของส.ส.ในสภาของฝ่ายรัฐบาลที่ลงเอยเป็นสภาล่มสองวัน ยังไม่มีเนื้อหาอธิบายได้ว่าเหตุใดจึงไม่ควรตั้งกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ขึ้น

โดยเฉพาะเมื่อคำสั่งคสช. และการใช้อำนาจ ม.44 ยังส่งผลกระทบถึงปัจจุบันและจะมีต่อไปถึงอนาคต

ในจำนวนคำสั่งคสช. 556 ฉบับ ที่เป็นม.44 มีอยู่ถึง 211 ฉบับ และเป็นคำสั่งที่กระทบหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล ซึ่งขัดแนวทางและหลักการประชาธิปไตย

หากไม่ศึกษา ไม่ค้นหาบทเรียนเพื่อป้องกันแล้ว การเป็นผู้แทนประชาชนสูญเปล่าหรือไม่ ต้องตอบให้ได้

ส.ส.จะแก้ไขปัญหาสภาล่มได้ ต้องตระหนักเรื่องนี้ก่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน