บทบรรณาธิการ : วิจารณ์เศรษฐกิจ

วิจารณ์เศรษฐกิจ : คําอธิบายหนึ่งของรัฐบาลว่าการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจยากขึ้นเรื่อยๆ เป็นเพราะเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่เกินเหตุ จึงทำให้ประชาชนสับสนอลหม่านนั้น เป็นประเด็นที่น่าวิตก

น่าวิตกประการแรกคือ ตัวเลขหรือข้อมูลที่รัฐบาลมีอยู่ตรงกับสภาพการณ์จริงมากน้อยเพียงใด จึงสรุปว่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขณะนี้เกินเหตุ

กรณีที่เสียงวิจารณ์นั้นๆ เกินเหตุ รัฐบาลสามารถให้ข้อมูลโต้แย้งได้หรือไม่

ข้อน่าวิตกประการต่อมาคือ หากตัวเลขหรือข้อมูลที่รัฐบาลมีอยู่ไม่ตรงสภาพความเป็นจริง หรือไม่รู้ต้นตอจริงของปัญหา การหาหนทางแก้ไขปัญหาจะมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และตรงจุดได้อย่างไร

การประชุมของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ไม่นานมานี้ มีการประเมินแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจปี 2563 ยังขาดแรงหนุนให้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

ปัจจัยเสี่ยงที่มีอยู่มาก จากภายนอกได้แก่ เศรษฐกิจโลกชะลอลงต่อเนื่อง สงครามการค้าระหว่างจีนสหรัฐ และการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น

ทั้งหมดจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย

ส่วนปัจจัยภายใน คือความล่าช้าของการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ทำให้ยังไม่เกิดการลงทุนในภาครัฐ และยังเป็นข้อจำกัดสำหรับการ กระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม

กกร.มองทิศทางเศรษฐกิจไทย ณ เวลานี้ ว่าน่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้ว ดังนั้นปี 2563 เศรษฐกิจไทยน่าจะดีขึ้น ด้วยความหวังที่จะมีการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 ขับเคลื่อนการลงทุนโครงการขนาดใหญ่

พร้อมเสนอว่ารัฐบาลควรเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 และไตรมาสแรกของปี 2563

ขณะที่สมาชิกสภาผู้แทนฯ พรรคฝ่ายค้าน ตั้งคำถามที่ยังไม่ได้รับคำตอบแน่ชัด ว่ารัฐบาลยังมีเงินสำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงเวลาดังกล่าวหรือไม่

คำถามต่อเนื่องกันก็คือว่า เศรษฐกิจมาถึงจุดต่ำสุดแล้วหรือไม่สำหรับประชาชน คำตอบนี้รัฐบาลต้องพิจารณาให้รอบคอบ มากกว่าการตอบโต้ทางการเมือง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน