หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560

ถึงยังไม่กำหนดเวลาในการจัดการเลือกตั้งแน่นอนชัดเจน

กระนั้นหลายคนเชื่อว่าการมาถึงของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะเป็นตัวช่วยให้บรรยากาศของบ้านเมืองโดยเฉพาะในมิติทางการเมือง ลดดีกรีความเข้มข้นลง

แต่แล้วจู่ๆ ก็เกิดเรื่อง “หมุดคณะราษฎร” ทำให้บรรยากาศที่เริ่มผ่อนคลายกลับมาเขม็งเกลียวอีกครั้ง

ต้องจับตาดูกันต่อว่าประเด็น “หมุดที่หายไป” จะบานปลายกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว หรือเมื่อถึงจุดหนึ่งเรื่องจะค่อยๆเงียบหายเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง

สำหรับหมุดคณะราษฎร เกิดอภินิหารหายไปจากบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เขตดุสิต กรุงเทพฯ ช่วงระหว่างวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์

โดยมีหมุดใหม่หรือ “หมุดหน้าใส” เข้ามาติดตั้งแทน

หากคิดว่า “ความปรองดอง” ของคนในชาติเป็นสิ่งกำลังขาดแคลนมากที่สุด กรณีดังกล่าวได้สร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอีกครั้งอย่างไม่จำเป็น

มีการแสดงความคิดเห็นแบ่งแยกเป็นสองฝ่ายทั้งในสื่อหลักและในโลกโซเชี่ยล ทะเลาะโต้เถียงกันสนั่นหวั่นไหว

ล่าสุดมีการจัดตั้งกลุ่มรณรงค์ “ทวงคืนหมุด” บนเว็บไซต์

มีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนเกือบ 3,000 คน ในจำนวนนี้มีทั้งนักเขียน ศิลปินแห่งชาติ นักวิชาการหลายสาขา อาจารย์มหาวิทยาลัย ฯลฯ ครอบคลุมทุกสีเสื้อ

ส่วนการเคลื่อนไหวนอกเว็บไซต์ ภาคประชาชนได้เดินสายยื่นหนังสือถามหาความจริงและความรับผิดชอบจากรัฐบาล คสช.และหน่วยงานของรัฐหลายแห่ง แต่ก็ไม่ได้รับความกระจ่าง

ยิ่งไปกว่านั้น ทหารยังนำตัวคนเรียกร้องทวงคืนหมุดไปเข้าค่ายปรับทัศนคติ ไม่ว่าในรายของนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ และในรายของนายบุญสิน หยกทิพย์ พร้อมเพื่อน

นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว แกนนำ กลุ่มพลเมืองโต้กลับ ที่เคยเคลื่อนไหวกรณีอุทยานราชภักดิ์ หัวหิน ได้รับโทรศัพท์ข่มขู่ไม่ให้ร่วมเคลื่อนไหวเรียกร้องทวงหมุด

ตรงนี้เองเป็นเครื่องบ่งชี้ ถึงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560

แต่การจำกัดสิทธิเสรีภาพในการเคลื่อนไหวแสดงความเห็นของประชาชน

ยังอยู่ในระดับไม่ต่างจากเดิม

กรณีหมุดคณะราษฎรหรือ “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” หายไป

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. ยอมรับว่าเป็นเรื่องกระทบกับความรู้สึกประชาชน

จึงมอบหมายให้ฝ่ายความมั่นคงและเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามสืบสวนสอบสวน ขณะเดียวกันก็ขอร้องไม่ให้นำเรื่องดังกล่าวมาขยายเป็นประเด็นเวลานี้ เพราะประเทศกำลังเดินหน้าด้วยดี

กระนั้นก็ตามท่าทีอะลุ้มอล่วยของพล.อ.ประยุทธ์ ดูเหมือนสวนทางกับท่าทีของทีมงานโฆษกคสช. ที่ขอร้องแกมขู่กลุ่มคนที่ออกมาเคลื่อนไหวว่า หากพูดคุยทำความเข้าใจกันดีๆ ไม่รู้เรื่อง ก็ต้องบังคับใช้มาตรการทางกฎหมาย

ขณะที่หน่วยงานต่างๆ ของรัฐต่างพยายามปัด ความรับผิดชอบให้พ้นตัว บ้างก็ปฏิเสธดื้อๆ ว่าไม่รู้ ไม่เห็น

ผู้อำนวยการเขตดุสิตยืนยันแค่ว่า ทราบว่ามีการเปลี่ยนหมุดคณะราษฎร แต่ทางเขตไม่ได้เป็นคนเปลี่ยน และไม่รู้หน่วยงานใดเป็นคนเปลี่ยน

ฝ่ายนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่อ้างว่าประชาชนทั่วไปไม่มีสิทธิร้องทุกข์เรื่องหมุดหาย เนื่องจากไม่ใช่เจ้าของหมุดและไม่ใช่ผู้เสียหาย

นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมศิลป์ไม่ทราบเรื่อง และหากมีการเปลี่ยนแปลงหมุดและข้อความในหมุดจริง ก็ไม่ต้องแจ้งให้กรมศิลป์รับทราบ เพราะไม่ใช่พื้นที่กรมศิลป์ดูแล ส่วนอยู่ในความดูแลของหน่วยงานใด ไม่ทราบ

กรมศิลปากรยังออกแถลงการณ์ระบุ หมุดคณะราษฎรไม่ใช่โบราณวัตถุตามพ.ร.บ.โบราณสถานฯ

เนื่องจากเป็นวัตถุที่พล.อ.พระยาพหลพลหยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎรนำมาติดตั้งไว้เมื่อปี 2479 หรือเป็นเวลา 4 ปีภายหลังเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

หมุดคณะราษฎรจึงมิใช่สังหาริมทรัพย์ที่เป็นประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์ เป็นเพียงเครื่องหมายระบุตำแหน่งที่เคยมีการประกาศแถลงการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองเท่านั้น

ส่วนที่มีผู้เรียกร้องให้ทางกทม.เปิดกล้องวงจรปิดที่มีอยู่ทั้งสิ้น 11 ตัวโดยรอบพื้นที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อพิสูจน์ว่าใครเป็นผู้เปลี่ยนหมุด ก็ต้องผิดหวังกลับไปเช่นกัน

เพราะทางผู้บริหารกทม.อ้างว่า กล้องดังกล่าวถูกถอดออกไปก่อนหน้านั้นตามแผนงานซ่อมบำรุงด้านการจราจร ทำให้ไม่สามารถบันทึกภาพในเวลาที่คาดว่ามีการเปลี่ยนหมุดไว้ได้

ด้วยเหตุประจวบเหมาะเช่นนี้ยิ่งทำให้การหายไปของหมุดคณะราษฎร กลายเป็นเรื่องลึกลับซับซ้อน

ชวนให้น่าติดตามมากขึ้นอีกหลายเท่า

หลายคนเชื่อว่าหากการเปลี่ยนหมุด ดำเนินการอย่างเปิดเผยเสียตั้งแต่แรก แทนที่จะทำให้เป็นปริศนา ด้วยการประกาศ ชี้แจงทำความเข้าใจให้ประชาชนทั่วไปรับทราบถึงเจตนาว่ากระทำไปเพื่ออะไร

หมุดใหม่มีที่มาที่ไปอย่างไร หมุดเก่านำไปเก็บรักษาไว้ที่ใด

เรื่องคงไม่วุ่นวายบานปลายเสี่ยงต่อการเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว

การที่คนในรัฐบาลคสช.และหน่วยงานของรัฐแสดงท่าทีไม่ให้ความสำคัญกับหมุดคณะราษฎรว่าจะอยู่หรือหาย

ยังตรงข้ามกับพฤติกรรมการส่งเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจไปเฝ้าดูแลหมุดใหม่ นำรั้วเหล็กตั้งล้อมรอบ ไม่ให้ใครแตะต้อง กระทั่งถ่ายรูปก็ยังไม่สามารถทำได้

มาตรฐานที่แตกต่างสร้างความสับสนว่าสรุปแล้ว “หมุด” สำคัญหรือไม่สำคัญกันแน่ หรือแค่หมุดเก่าที่ไม่สำคัญ สำคัญเฉพาะหมุดหน้าใส จึงต้องอารักขาเข้มแข็ง จนประชาชนเข้าไม่ถึง

ปัญหาหมุดคณะราษฎร เป็นเรื่องกระทบความรู้สึกประชาชน เป็นสัญลักษณ์ทางความรู้สึกนึกคิดที่ละเอียดอ่อนและแตกต่างกันในทางอุดมการณ์ทางการเมือง ดังนั้นการจัดการกับคนคิดต่าง ควรทำอย่างระมัดระวังและเบามือที่สุด

ระหว่างนี้ยังมีหลายเรื่องที่ประชาชนเคลือบแคลงใจ

อย่างเช่นการจัดซื้อเรือดำน้ำ รถถัง การเลื่อนขั้นเงินเดือนพิเศษให้เจ้าหน้าที่คสช.จำนวน 721 ราย หรือการโอนงบรายจ่ายของส่วนราชการอื่นๆ กว่า 1.1 หมื่นล้านบาท ไปไว้ในงบกลางเพื่อสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉิน

สวนทางกับจังหวะที่ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้า ที่เตรียมปรับเพิ่มขึ้นในเดือนพ.ค.-ส.ค.นี้อีก 12.52 สตางค์/หน่วย ซ้ำเติมเศรษฐกิจระดับปากท้องที่ย่ำแย่อยู่แล้ว ให้ทรุดต่ำลงไปอีก

จนเป็นที่มากระแสเรียกร้องให้ “รีเซ็ต” ทีมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอีกรอบ

อีกทั้งต้องไม่ลืมด้วยว่าการสร้างความสามัคคีปรองดอง เพื่อเดินหน้าปฏิรูปประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ที่วางไว้ รัฐบาลและคสช.จำเป็นต้องขอความร่วมมือจากประชาชนทุกภาคส่วน

การสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งใหม่ขึ้นโดยไม่จำเป็น เหมือนกรณีหมุดคณะราษฎรที่หายไปอย่างไร้ร่องรอย

เป็นสิ่งควรหลีกเลี่ยงให้มากที่สุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน