เอาแน่เอานอนไม่ได้ – บทบรรณาธิการ

คอลัมน์ – บทบรรณาธิการ

บทบรรณาธิการ – ควันหลงที่ยังคละคลุ้งอยู่ในฝ่ายนิติบัญญัติขณะนี้ยังคงเป็นเรื่องการตรวจสอบสมาชิกสภาผู้แทนฯ ของแต่ละพรรค เริ่มจากกรณีสภาล่มติดกัน 2 ครั้ง และองค์ประชุมรอดพ้นการล่มในครั้งที่ 3

ผลจากการรอดล่มทำให้เห็นถึงการจัดกระบวนใหม่ของส.. ที่ขั้วพรรคฝ่ายค้านยกมือร่วมกับฝ่ายรัฐบาล จนถูกเรียกว่า งูเห่า

ขณะเดียวกันส..ฝั่งรัฐบาลจำนวนหนึ่งยืนยันสนับสนุนการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากคำสั่งคสช. และมาตรา 44 แม้ต้องอยู่ในฝั่งเดียวกับฝ่ายค้าน

นอกจากนี้ยังมีกรณีสมาชิกพรรคการเมืองพรรคเล็กของฝ่ายค้านส่งสัญญาณเปลี่ยนฝั่งไปอยู่ฝ่ายเดียวกับรัฐบาล

การกลับขั้วสลับข้างระหว่างสมาชิกฝ่ายค้านกับสมาชิกฝ่ายรัฐบาลจึงไม่ได้แสดงถึงจุดยืนและการตัดสินใจทางการเมืองของตัวบุคคล แต่ยังสะท้อนถึงความเอาแน่เอานอนไม่ได้ของฝ่ายนิติบัญญัติ

ช่วงเวลาเดียวกันนี้ เกิดคดีความที่ส..พรรครัฐบาล ถูกสอบสวนดำเนินคดีรุกที่ดิน ทั้งของป่าไม้และส... เปรียบเทียบกับคดีที่ชาวบ้านธรรมดาทั่วไปถูกดำเนินคดีจากนโยบายทวงคืนผืนป่าตาม คำสั่ง คสช.เมื่อปี 2557

ตามด้วยคดีส..ถูกออกหมายจับ แต่เดินทางเข้าสภาและร่วมการประชุมได้ตามปกติ ขณะที่นักการเมืองฝ่ายค้านในคดีเดียวกันเข้าไปรับโทษอยู่ในเรือนจำแล้ว

รวมไปถึงกรณีรัฐมนตรีที่ถูกครหาคดีในอดีตที่ต่างแดน แต่ชี้แจงไม่กระจ่าง จนเป็นที่กังขาอย่างกว้างขวาง

ข้อวิจารณ์เรื่องสองมาตรฐาน เลือกปฏิบัติ และความไม่เท่าเทียม จึงส่งผลต่อบรรยากาศทางการเมืองที่กำลังตอกย้ำปมแห่งความขัดแย้งเดิมทางสังคม

แม้การเป็นส..หมายถึงบุคคลที่ได้รับความยอมรับนับถือ และได้รับความเชื่อใจจากประชาชนจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

แต่ด้วยเนื้อหาและการออกแบบของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ทำให้มีส..ส่วนหนึ่งไม่ได้มาจากปัจจัยเหล่านี้อย่างชัดเจน

อีกทั้งยังมีประเด็นครหา มันนี่ โพลิติก หรือการใช้เงินเป็นเครื่องมือในการควบคุมเสียงในสภา เป็นอีกเรื่องที่น่าวิตก

สภาพการณ์ที่ส..ถูกมองว่าขาดคุณภาพ ขาดอุดมการณ์ หรือไม่มีจุดยืนที่เข้มแข็งพอจะทำหน้าที่ ส่งผลกระทบด้านลบโดยตรงต่อฝ่ายนิติบัญญัติที่มักถูกกล่าวหาว่า ไม่อาจแก้ไขวิกฤตของบ้านเมืองได้ และหลายครั้งเป็นปัญหาเสียเอง

ยิ่งเมื่อสมาชิกวุฒิสภาไม่ได้มาจากการเลือกของประชาชน ก็ยิ่งสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน