แก้ไขรัฐธรรมนูญ

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

แก้ไขรัฐธรรมนูญ – วันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม เป็นวาระหนึ่งของการรำลึกและทบทวนกฎหมายหลักของประเทศ ทั้งที่มา ที่กำลังดำเนินอยู่ และที่กำลังจะก้าวต่อไป

ท่าทีของผู้มีบทบาททางการเมืองต่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ฉบับที่ 20 มีทั้งฝ่ายที่เห็นว่าควรเร่งแก้ไข และควรเร่งทำอย่างจริงจัง เนื่องจากเห็นปัญหามากมายจากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นช่วงรัฐประหาร

กับอีกฝ่ายที่ไม่เห็นว่าต้องแก้ไข และพยายามประวิงเวลา เนื่องจากได้รับประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้

การต่อสู้และต่อรองระหว่างสองฝ่ายจึงต้องอาศัยเสียงสนับสนุนจากประชาชนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

หลังจากผ่านช่วงเวลาที่หลายพรรคหาเสียงในการเลือกตั้ง จนนำมาสู่การบรรจุเรื่องนี้ในนโยบายรัฐบาล

นโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลกำหนดไว้เมื่อเดือนก.ค. ข้อที่ 12 คือการสนับสนุนให้มีการศึกษา การรับฟังความเห็นของประชาชน และการดำเนินการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในส่วนที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

ส่วนฝ่ายค้านเสนอ “ญัตติด่วน” ขอให้สภาพิจารณาตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อ วันที่ 22 ส.ค.

กระทั่งต้นเดือนพ.ย. ฝ่ายรัฐบาลเริ่มเปิดเผยสัดส่วน กมธ. ชุดนี้ รวมถึงเริ่มปรากฏชื่อบุคคลที่จะเข้ามาร่วมเป็น กมธ.

แต่จากนั้นขั้นตอนเริ่มยืดเยื้อและญัตตินี้ถูกเลื่อนออกไปเป็นระยะ

การหักเหลี่ยมเฉือนคมในญัตติด่วนที่ฝ่ายค้านเสนอให้ตั้งกมธ.วิสามัญศึกษาผลกระทบ คำสั่งคสช. และมาตรา 44 น่าจะเป็นสัญญาณหนึ่งที่บ่งบอกว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่ง่าย และอาจไม่เป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติแบบเดิม

แต่การเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการ แก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเป็นทางเดียวที่พรรค การเมืองต่างๆ แสดงถึงความจริงใจที่จะพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศ

หลังจากล่าถอยมานานกว่า 5 ปี และตกอยู่ในห้วงความขัดแย้งทางการเมืองมาเกินสิบปีที่พยายามกีดกันประชาชนจากกระจายอำนาจและตัดสินอนาคตของประเทศ

ขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่ต้องเริ่มต้นดึงประชาชนกลับเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดรัฐธรรมนูญ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน