เรียนรู้จากซีเกมส์

: บทบรรณาธิการ

เรียนรู้จากซีเกมส์ – มหกรรมการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 30 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ดำเนินมาถึงวันปิดฉาก 11 ธันวาคมแล้ว หลังจากมีพิธีเปิดวันที่ 30 พ.ย. และการแข่งขันที่เริ่มก่อนหน้านั้น รวมกว่าสองสัปดาห์

ช่วงเวลาสั้นๆ นี้เป็นบทพิสูจน์ถึงการเตรียมพร้อมของนักกีฬาและทีมงานที่อยู่เบื้องหลังของทุกประเทศที่เข้าร่วม 11 ประเทศ

ทีมชาติไทยได้เหรียญทองมากกว่าการแข่งขันซีเกมส์ครั้งก่อน 2017 แม้จะเป็นเพราะมีชนิดกีฬาเพิ่มขึ้นกว่าครั้งก่อน ผลงานหลายชนิดกีฬาแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการที่สูงขึ้นจนแข่งขันกับประเทศที่ครองเหรียญทองมานานได้

ส่วนกีฬายอดนิยม เช่น ฟุตบอล วอลเลย์บอล กรีฑา ก็แสดงให้เห็นว่าชาติอื่นๆ ยกระดับขึ้นมาจนทำให้การแข่งขันเข้มข้นสูสีมากกว่าเดิม

ดังนั้น แม้ไม่ใช่มหกรรมใหญ่ แต่ซีเกมส์เป็นสนามแข่งขันสำคัญสำหรับการพัฒนากีฬาชาติต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน

การจัดแข่งขันซีเกมส์ยังเปิดโอกาสให้คนในภูมิภาคเรียนรู้และรู้จักกันมากขึ้น โดยเฉพาะด้านสังคมและวัฒนธรรมในระดับประชาชน

จากที่ไม่ค่อยใกล้ชิดผูกพันมากนัก เนื่องจากความแตกต่างด้านภาษา และความห่างเหินเรื่องข้อมูลข่าวสารที่มักต้องอ้อมผ่านจากสื่อชาติ ตะวันตก

แต่กีฬาเป็นจุดเชื่อมความเป็นสากลมากขึ้น เข้าถึงภาคประชาชนมากขึ้น

กีฬาหลายชนิดในซีเกมส์ครั้งนี้และครั้งก่อนๆ อาจมีกีฬาท้องถิ่นประจำชาติ ซึ่งทีมชาติไทย ไม่ถนัด แต่เมื่อมองอีกมุมหนึ่งก็ถือว่าเป็นโอกาสสำหรับการเรียนรู้

ทำให้กองเชียร์ชาวไทยรับรู้ว่าผู้คนในภูมิภาคและในประเทศมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์เช่นกัน

นอกเหนือจากการให้กำลังใจนักกีฬาทีมชาติและทีมงานทุกคนที่อยู่เบื้องหลัง สิ่งที่ควรพัฒนาต่อไปสำหรับมหกรรมการแข่งขันซีเกมส์ คือการยกระดับขีดความสามารถด้านกีฬาส่วนบุคคล และประเภททีม ไปจนถึงการใช้วิทยาศาสตร์การกีฬา และเทคโนโลยีการกีฬาต่างๆ

ทั้งหมดล้วนต้องได้รับการสนับสนุนจาก รัฐบาลอย่างจริงจัง ทั้งด้านงบประมาณและ ด้านทรัพยากรมนุษย์

ที่สำคัญคือต้องไม่เอาเปรียบคู่แข่งด้วยการ ตั้งกฎกติกาเองโดยไม่เป็นที่ยอมรับในสากล

ควรมุ่งสู่การสร้างและรักษาความมีน้ำใจเป็นนักกีฬา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน