มุมสะท้อน-กกต.เสนอยุบ‘อนค.’

รายงานพิเศษ

มุมสะท้อน-กกต.เสนอยุบ‘อนค.’ – เป็นที่สนใจและมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหู ต่อมติกกต.ที่เสนอศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคอนาคตใหม่

ไม่เพียงกระบวนการไต่สวนที่กกต.ไม่เปิดโอกาสให้ชี้แจง

หากความผิดโทษยุบพรรค ก็มีข้อสงสัยว่าการกู้เงินจาก นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค เป็นความผิดได้อย่างไร

มีความเห็นจากนักวิชาการ อดีตป.ป.ช. อดีตผู้พิพากษา อดีตกกต.

สมลักษณ์ จัดกระบวนพล

อดีตป.ป.ช. และอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา

รู้สึกแปลกใจว่าทำไม กกต.จึงไม่ไต่สวนและให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหา เพื่อให้เขามีโอกาสสู้คดีอย่างเต็มที่ เพราะในกระบวนการยุติธรรมไม่ว่า ศาล หรือแม้แต่ ป.ป.ช. มีหลักในการพิจารณาคดี ทุกคดีต้องมีการไต่สวน สืบพยานก่อนเสมอ และรับฟังผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งเป็นไปตาม ป.วิอาญา มาตรา 227 วรรคแรก

ในสายกระบวนการยุติธรรมยึดหลักนี้ ป.ป.ช.ก็ยึดหลักนี้เช่นกัน ซึ่งกำหนดไว้ว่า วิอาญามาตรา 227 วรรคแรกนั้นระบุ ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริง และจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น

แสดงให้เห็นว่าต้องรับฟังพยานและวินิจฉัย ชั่งน้ำหนัก ดังนั้นถึงบอกว่ารู้สึกแปลกใจทำไมกกต.ถึงสรุปสำนวนโดยฟังแต่ข้อกล่าวหา และพยานหลักฐานของกกต.ที่มี โดยที่ไม่ให้โอกาสจำเลยสืบพยาน ถึงเกิดคำถามขึ้นว่า กกต.มีกฎหมายอะไรพิเศษอย่างนั้นหรือ

การยุบพรรคถึงแม้ว่าจะไม่ใช่โทษทางอาญา แต่การยุบพรรคมีโทษที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น ถูกตัดสิทธิ์ห้ามดำรงตำแหน่ง ซึ่งเป็นโทษที่รุนแรงของนักการเมือง ถูกตัดสิทธิ์ 10 ปี หรือ 20 ปี ก็เหมือนถูกประหารชีวิตทางการเมือง

ดังนั้น ถ้าเป็นอย่างนี้ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาอย่างมาก ยกตัวอย่างคดีอาญา เมื่อศาลสืบพยานมาแล้วพบว่าพยานโจทก์แน่นมาก ก็จะให้โอกาสจำเลยเต็มที่ในการสืบพยาน เพื่อให้เขาได้มีโอกาสสู้คดีอย่างเต็มที่

แต่ทำไมกกต.ไม่ยึดหลักนี้ ในเมื่ออยู่สายกระบวนการยุติธรรมเหมือนกัน และองค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช. ก็ไม่เคยทำอะไรที่จะลงโทษใครโดยดูแต่สำนวน ดูแต่ข้อกล่าวหา แล้วชี้ขาด อย่างนี้ไม่เคยทำ ยืนยันได้

เราต้องสอบสวนและให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาได้ ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ นี่คือหลักทั่วไปของคนที่อยู่ในศาลและกระบวนการยุติธรรม และเป็นหลักของกฎหมายวิธีพิจารณาคดีความอาญาด้วย ส่วนกกต.อ้างฐานความผิดตามข้อกฎหมายใด มาตราใดนั้น ต้องขอดูข้อกฎหมายโดยละเอียดเสียก่อน

ยุทธพร อิสรชัย

อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มสธ.

มุมสะท้อน-กกต.เสนอยุบ‘อนค.’ : รายงานพิเศษ

คิดว่าบทบัญญัติมาตรา 72 มีฐานจากมาตรา 66 แต่การแถลงของกกต.ไม่ละเอียด ต้องไปดูสำนวนที่ส่งไปศาลรัฐธรรมนูญ

บทบัญญัติมาตรา 72 พูดถึงกระบวนการที่พรรคได้รับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินมาโดยวิธีการที่อาจขัดกฎหมาย จึงเป็นไปได้ที่กกต.มองว่าการกู้เงินของพรรคอนาคตใหม่เป็นเรื่องนิติกรรมอำพราง ตามมาตรา 66 เรื่องของการให้ แต่การให้เหมือนเป็นนิติกรรมอำพรางจึงเข้าบทบัญญัติมาตรา 72 มีโทษตามมาตรา 92 (3) คือโทษยุบพรรค ตัดสิทธิ์กก.บห.พรรค

ก่อนหน้านี้พรรคอนาคตใหม่ก็ยกฎีกาที่ 135/2550 มากล่าวถึงว่าการกู้เงินนั้นเป็นรายจ่าย ไม่ใช่รายได้ ไม่ได้อยู่ในขอบข่ายกฎหมายกำหนดเรื่องรายได้พรรคการเมือง ก็ต้องยกไปเป็นข้อต่อสู้

และที่จะยกเป็นข้อต่อสู้ได้อีกคือระยะเวลา ที่ให้เสนอเอกสารพยานหลักฐานที่อาจไม่เพียงพอ เพราะขอขยาย 120 วัน ขณะที่กกต.ให้ถึงเพียงแค่วันที่ 2 ธ.ค. 2562 นี้ และต้องหักล้างว่ากระบวนการกู้เงินไม่ได้เป็นนิติกรรมอำพราง แต่เป็นการกู้เงินจริงๆ

ปัญหาหนึ่งของการเมืองไทย เราไม่เคยเห็นการสนับสนุนพรรคการเมืองอย่างเปิดเผย เพราะกฎหมายพรรคการเมืองไม่ได้ทำให้พรรคการเมืองเติบโตโดยธรรมชาติ กฎหมายพรรคการเมืองทั้ง 7 ฉบับ มาถึงฉบับล่าสุดคือปีพ.ศ.2560 ล้วนทำให้พรรคโตในทางกฎหมาย

และบรรดากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองหรือส.ส. มุ่งสร้างความเสมอภาคทางกฎหมายให้พรรคและผู้สมัคร แต่ไม่ได้สร้างความเสมอภาคในทางข้อเท็จจริง

ก็จะเหมือนกับกรณีหุ้นสื่อ กฎหมายมุ่งสร้างความเสมอภาค ให้ทุกคนอยู่ในสนามแข่งขันที่ไม่มีความได้เปรียบเสียเปรียบเพราะถือหุ้นสื่อ แต่เอาเข้าจริงบางคนไม่ได้มีหุ้นสื่อแต่ในทางปฏิบัติจริงมีอิทธิพลกับสื่อ แต่กลับไม่โดนเล่นงาน

ฐิติพล ภักดีวานิช

คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี

ข้อมูลที่กกต.มีมติแทบไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนถึงเหตุยุบพรรค กกต.ควรชี้แจงหรือให้เหตุผลที่ชัดเจนต่อสาธารณชนมากกว่านี้ เพราะพรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคใหญ่เป็นอันดับสาม และการเสนอยุบพรรคถือเป็นเรื่องใหญ่ จำเป็นที่กกต.ต้องให้ข้อมูล เหตุผลและความจำเป็นมากกว่านี้

สังคมตั้งคำถามกันมากพอสมควรว่าหากกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นกับพรรคพลังประชารัฐ หรือพรรคร่วมรัฐบาล คำวินิจฉัยของ กกต.จะเป็นลักษณะเดียวกันหรือไม่ การบังคับใช้กฎหมายจะเป็นเหมือนกันกับทุกพรรคหรือเปล่า

เรื่องที่เกิดขึ้นอาจทำให้ กกต.ถูกตั้งคำถามได้ว่ามีธงหรือใบสั่งให้ดำเนินการกับพรรคอนาคตใหม่หรือไม่ จำเป็นที่ กกต.ต้องชี้แจงและตอบคำถามสังคม ไม่ใช่เรื่องยากเลยที่ กกต.จะเขียนคำวินิจฉัยโดยละเอียดเพื่อชี้แจง

ส่วนตัวมองว่าเงินกู้ไม่ใช่เงินบริจาค เพราะยอดที่กู้ไม่ใช่จำนวนน้อยๆ แต่การกู้เงินจากบุคคลที่เป็นหัวหน้าพรรคอาจเกิดคำถามเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ว่าผู้ให้กู้นั้นจะมีอิทธิพลเหนือพรรคหรือไม่ ซึ่งต้องว่ากันไป

แต่จากเรื่องนี้ปัญหาที่ตามมาคือ การบังคับใช้กฎหมายจากองค์กรอิสระจะถูกตั้งคำถามมากขึ้น ทั้งเรื่องการตีความและมาตรฐานว่ายังใช้หลักทางกฎหมายเดียวกันอยู่หรือไม่ กรณีของ กกต.ก็เช่นกัน สังคมจะสงสัยและตั้งคำถามว่าตีความตามข้อกฎหมายจริงหรือไม่ หรือเป็นการตีความเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มอำนาจเท่านั้น

สดศรี สัตยธรรม

อดีตกกต.

มุมสะท้อน-กกต.เสนอยุบ‘อนค.’ : รายงานพิเศษ

มาตรา 72 พ.ร.ป.พรรคการเมือง ห้ามมิให้พรรคและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรครับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบ

พรรคอนาคตใหม่บอกว่าไม่ใช่เงินบริจาค แต่เป็นเงินที่นายธนาธรให้กู้ยืม แม้เป็นเงินบริสุทธิ์ถูกกฎหมาย ก็เข้าตามมาตรา 72 คือไม่ใช่เงินบริจาคแต่เป็นประโยชน์อื่นใดและโยงไปมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 93 พ.ร.ป.พรรคการเมืองเพื่อเหตุยุบพรรค

เมื่อเป็นเงินกู้ยืมก็ต้องดูที่รายได้พรรค ซึ่งมาตรา 62 พ.ร.ป.พรรคการเมืองไม่ได้ระบุถึงเงินกู้และไม่มีคำว่ารายได้อื่นใด เงินกู้ก็ไม่เข้าข่าย ต่างจากพ.ร.ป.พรรคการเมือง 50 มาตรา 53(7) ใช้คำว่ารายได้อื่นใด ซึ่งมีหลายพรรคที่กู้เงินโดยอาศัยบทบัญญัตินี้ แต่พ.ร.ป.พรรคการเมือง 60 คำว่ารายได้อื่นไม่มีระบุไว้

วันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา นายอิทธิพร บุญประครอง ประธานกกต. ระบุแล้วว่าในกฎหมายพรรคการเมืองไม่เปิดโอกาสให้พรรคกู้เงิน เป็นการบอกล่วงหน้าแล้วจึงมีการวินิจฉัยว่ามาตรา 62 พ.ร.ป.พรรคการเมือง ไม่ได้ระบุถึงรายได้อื่น

มติกกต.ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคต ใหม่ตามมาตรา 72 ที่ระบุว่าเป็นประโยชน์อื่นใด ทั้งๆ ที่ควรรู้ว่าเป็นการได้มาซึ่งไม่ชอบ คือ รู้ว่ากู้เงินไม่ได้แต่ก็ยังบอกว่าพรรคกู้เงินมา ต้องยอมรับว่าพรรคต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้นมาก็มีนายทุน เพราะพรรคการเมืองต้องใช้เงินจำนวนมาก แต่ไม่เปิดเผยกัน

กรณีพรรคอนาคตใหม่อาจเป็นการเผลอปากพูดของหัวหน้าและโฆษกพรรค โดยเข้าใจว่าทำได้เหมือนครั้งใช้กฎหมายพรรคการเมืองปี 50 มาตรา 53(7)

เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้วพรรคอนาคตใหม่ก็ต้อง สู้ ไม่ว่าจะอย่างไรให้สู้ด้วยข้อกฎหมาย เพราะมติกกต.เป็นมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 2 พอเป็นเหตุให้ตุลาการศาลรับฟังในข้อมูลของพรรคมากขึ้นในขั้นศาล

การดำเนินการของกกต.ครั้งนี้ และศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นฐานปฏิบัติของมาตรา 72 แห่งพ.ร.ป.พรรคการเมือง 60

อัษฎางค์ ปาณิกบุตร

อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง

เป็นเรื่องที่พรรคอนาคตใหม่ต้องเตรียมพร้อม ไว้ตั้งแต่แรก เพราะรู้อยู่แล้วว่ารัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร มีส่วนแย่ตรงไหนที่ทำให้พรรคเกิดจุดอ่อน รวมถึงพ.ร.ป.พรรคการเมือง มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง

ต้องไม่ลืมว่าเมื่อถึงเวลาเกิดเหตุอะไรขึ้น จะมีการตีความทางกฎหมาย คำถามที่ตามมาคือเหตุใดพรรคอนาคตใหม่จึงไม่ตีความกฎหมายให้แตก ถ้าศึกษาให้ละเอียดรอบคอบแต่ต้นเชื่อว่าจะไม่มีอะไรผิด แปลกใจทำไมพรรคละเลยตรงนี้ทั้งที่ไม่ได้เป็นเรื่องยากเย็น เป็นเรื่องตรงไปตรงมา หรือจะเลี่ยงก็ได้แต่เลี่ยงด้วยวิธีการแบบไม่ผิดกฎหมาย

จุดสำคัญคือ นายธนาธร หรือนักกฎหมายที่ให้คำปรึกษาพรรคไม่ละเอียดรอบคอบ อาจเชื่อตัวเองมาก เสียดายเรื่องแบบนี้ไม่น่าเกิดขึ้นเลย ถึงจะตั้งใจดี ตั้งใจทำงาน แต่พอเกิดเรื่องก็ทำให้ทุกอย่างสะดุด

ที่นายปิยบุตรโต้ว่าเงินกู้จากหัวหน้าพรรค ไม่ชอบอย่างไรนั้น ความเชื่อของกกต.กับนายปิยบุตร เป็นคนละเรื่องกัน ซึ่งเคยเห็นกันมาแล้ว แม้แต่การคำนวณสัดส่วนส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งประเทศ กกต.ยังคิดได้เอง ต่อไปต้องมีกรรมการตรวจสอบการทำหน้าที่ของ กกต. และหลายเรื่องต้องพึ่งตัวเองก่อน ต้องละเอียดรอบคอบ และเป็นบทเรียนว่ายิ่งมีศัตรูมากยิ่งต้องระวัง

เสียงวิจารณ์นายทุนแอบอุดหนุนพรรคโดยไม่ เปิดเผยทำได้ แต่กรณีพรรคอนาคตใหม่ทำเปิดเผยกลับถูกดำเนินคดี อย่างที่รู้กันว่านายทุนพรรคมีมากมายและมีมาตลอดเวลา ส.ส.มีนายทุนจ่ายเงินให้ เป็นมาอย่างนี้ทุกสมัย เงินมืดหรือเงินสว่างแต่ก็จับไม่ได้ เมื่อปกป้องตัวเองก็จะปลอดภัย

ทุกอย่างไม่สายเกินไปแต่ต้องต่อสู้แบบฉลาด แยบยล รู้เท่าทันเผด็จการให้ได้ ทั้งตามกฎหมายและไม่ตามกฎหมาย อาจเป็นเสือเชื่องๆ แต่เมื่อกางเล็บต้องตะปบ ทุกอย่างต้องระดมสมอง ต้องมีเครือข่ายมาถกกันแก้ปัญหาร่วมกัน

ส่วนตัวเชื่อว่ารัฐบาลมีธงอยู่แล้ว คาดว่าเดือนมี.ค.ปีหน้าก็น่าจะจบ ที่บอกกันว่ากว่ากระบวนการจะเสร็จสิ้นจะใช้เวลาเป็นปีนั้นไม่จริง

ธนพร ศรียากูล

นายกสมาคมรัฐศาสตร์แห่งม.เกษตรศาสตร์

มุมสะท้อน-กกต.เสนอยุบ‘อนค.’ : รายงานพิเศษ

เรื่องนี้ต้องแยกเป็นขั้นตอน มีผู้ไปร้องพรรคอนาคตใหม่ว่าอาจทำผิดพ.ร.บ.พรรคการเมือง กกต.ก็ต้องสอบสวน การดำเนินการอะไรก็ตามพิจารณาแต่เอกสารเพียงประการเดียวไม่ได้ เพราะอาจไม่ครบถ้วน โดยหลักควรเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้อธิบายชี้แจงเพื่อให้กระบวนการ สอบสวนสมบูรณ์

ซึ่งสังคมไม่เห็นว่ามีกระบวนการนี้เกิดขึ้น จึงทำให้คนสงสัยว่ากระบวนของกกต.มีมาตรฐานเหมือนกันทุกพรรคหรือไม่ กกต.ควรตอบคำถามให้เกิดความกระจ่าง จะชอบหรือไม่ชอบพรรคอนาคตใหม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ต้องเคารพว่ามีประชาชน 6 ล้านคนสนับสนุนพรรคนี้

ข้อถกเถียงเงินกู้จากหัวหน้าพรรคผิดกฎหมาย ตรงไหนนั้น ในหลักการมี 2 มุม กฎหมายไม่ได้บอกว่าห้ามก็แปลว่าทำได้ กับไม่ได้อนุญาตให้ทำก็อย่าไปทำ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมีหลายคน เชื่อว่าเรื่องนี้ไม่มีอะไรที่ซับซ้อนในทางหลักการ แต่ไม่ควรให้สังคมเกิดข้อสงสัยว่ากกต.มีอะไรปิดบังหรือเลือกปฏิบัติ

เงินกู้กับเงินบริจาคโดยข้อเท็จจริงสะท้อน จากคำอยู่แล้ว หากเป็นเงินกู้ก็ต้องดูว่ามีการชำระหนี้คืนหรือไม่ ซึ่งต้องมีหลักฐานการชำระหนี้ชัดเจน ตรงนี้ถ้ากกต.คิดว่าเงินกู้ก้อนนี้ไม่ใช่เงินกู้ที่แท้จริงก็ต้องมีหลักฐาน ถ้ากกต.ให้อนาคตใหม่ไปชี้แจงสังคมก็สิ้นสงสัย

ต่อเสียงวิจารณ์นายทุนแอบอุดหนุนพรรคโดยไม่ เปิดเผยทำได้ แต่กรณีอนาคตใหม่ทำเปิดเผยกลับถูกดำเนินคดี เพราะกระบวนการของกกต.ทำให้สังคมมองกกต.แง่ร้าย

เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ ที่ผ่านมากกต.ไม่เคยเปิดโอกาสให้ชี้แจง ทำทุกอย่างเหมือนดำมืด

และอนาคตเท่ากับว่าเปิดโอกาสให้คนที่มีทุนหนาเข้าไปครอบงำพรรคแบบเด็ดขาด โดยการลงใต้ดิน เพราะไม่สามารถตรวจ สอบได้

ที่ผ่านมาพรรคการเมืองในอดีตยังไม่มีพรรค ไหนออกมาบอกว่ามีผู้สนับสนุนจากไหน ถ้าต้องการให้บ้านเมืองโปร่งใส การริเริ่มของอนาคตใหม่เป็นสิ่งที่ควรชื่นชม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน