คอลัมน์ รายงานพิเศษ

คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) หรือ ครม.ส่วนหน้า สรุปผลการดำเนินการในรอบ 6 เดือน นับแต่ก.ย.2559 ที่ผ่านมา

คปต.สรุปว่าผลงานทั้งด้านความมั่นคง การพัฒนาและด้านการสร้างความเข้าใจ มีค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ในระดับมาก

ในมุมมองของคนทำงานในพื้นที่ และนักวิชาการที่เกาะติดปัญหามองอย่างไร

1.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี

ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

ภาพรวมนโยบายและแผนงานปี 2560 ของ คปต.หรือครม.ส่วนหน้า มีความต่อเนื่องจากปี 2559 ยึดยุทธศาสตร์ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ประกอบกับภารกิจ 7 กลุ่มงาน ที่ประสานแต่ละกระทรวง ทบวง กรม รับผิดชอบโดยตรงรอบปีนี้การดำเนินงานดีกว่าปีที่ผ่านมาเห็นได้ชัด

สังเกตได้จากการตั้งงบประมาณ ปี 2559 วางไว้ที่ 30,000 ล้าน ปี 2560 เหลือเพียง 13,000 ล้าน หั่นลงมากกว่าครึ่งหนึ่ง นี่คือ จุดเด่นที่ทำให้งานออกมาดีขึ้น งบที่เบิกจ่ายทำโครงการไม่ทันถูกตัดทิ้งทันที เปรียบเสมือนการตัดไขมันให้เหลือแต่เนื้อ จึงคล่องตัว มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ประกอบกับจุดเด่นการดำเนินงานของคปต.ที่การจัดทำรายงานผลการดำเนินงานจะมี 2 ฉบับ ฉบับหนึ่งจะส่งไปยังกระทรวง อีกฉบับส่งไปยังครม.ส่วนหน้า การบริหารงานเบิกจ่ายงบฯมีการเฝ้าติดตามตลอดเวลา และปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องสถานการณ์ได้ทันท่วงที

ในแง่การแปรนโยบายสู่การปฏิบัติสำหรับมิติด้านความมั่นคง มีกองทัพภาค 4 กอ.รมน.ภาค 4 รับผิดชอบ สามารถปัองกันเมืองหลักและเมืองเศรษฐกิจสำคัญ ในหลายอำเภอของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้อย่างดี

มีการตั้งจุดตรวจ เฝ้าระวังอย่างรัดกุม ประสานงานร่วมกับภาคประชาสังคมร่วมกันดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความมั่นใจให้ประชาชนได้ว่าการทำมาค้าขายจะไม่สะดุดลง

การระเบิด 32 จุดพร้อมกันเมื่อเดือนที่ผ่านมา จะเห็นว่านั่นคือพื้นที่ชนบท ถนนหลวง ไม่ใช่เขตอำเภอที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ

ด้านการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรมเป็นเจ้าภาพ มีการจัดอบรมการบังคับใช้กฎหมายและการยึดหลักสิทธิมนุษยชน ให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่โดยละเอียดเป็นประจำ ผลที่ออกมาคือการละเมิดสิทธิประชาชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐลดลง แต่ยังคงมีอยู่ สร้างความเชื่อใจให้ประชาชนได้มากขึ้น

ทว่าเจ้าภาพหลักด้านสิทธิโดยตรงอย่างคณะกรรมการสิทธิ มนุษยชนแห่งชาติ ยังไม่เห็นการดำเนินงาน คาดว่ากำลังตระเตรียมแผนงานอยู่

จุดเด่นอยู่ที่การเปิดพื้นที่ให้องค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิ มนุษยชน ร่วมลงพื้นที่ ด้วยการประสานงานจากกระทรวงการต่างประเทศ ทำให้การทำงานได้รับการยอมรับมากขึ้น มีภาคประชาชนและเอ็นจีโอ ร่วมกันเก็บข้อมูล

ยุทธศาสตร์สำคัญที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดคือ กิจกรรมการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งอย่างสันติ ที่คณะพูดคุยสันติสุข ซึ่งมีสมช. เป็นเจ้าภาพ เนื่องจากเดิมเวทีพูดคุยสันติภาพจะเป็นภาคประชาสังคมดำเนินการจัดทำกันเองในพื้นที่ ภาครัฐจะทำหน้าที่ติดตามด้วยความหวาดระแวง

ทว่าคราวนี้ภาครัฐเป็นเจ้าภาพหลัก จัดเวทีพูดคุยถี่มากเพื่อสร้างความเข้าใจทำให้บรรยากาศสันติภาพกำลังเปิดกว้าง

ส่วนโครงการด้านการพัฒนายังต้องรอดูผลการดำเนินงาน อีกสักระยะเพราะเพิ่งเริ่มดำเนินการ ไตรมาส 3-4 น่าจะเห็นผลที่ชัดเจนขึ้น

สิ่งที่อยากให้คปต.เร่งผลักดันเฉพาะหน้าคือ การส่งเสริมการศึกษาเพื่อป้องกันเยาวชนในพื้นที่ให้ออกห่างจากการปลูกฝังแนวคิดที่ให้ ต่อต้านรัฐ ด้วยการยกระดับความรู้ความสามารถของเยาวชน

2.ประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ

ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้

หากประเมินด้วยสายตา การทำงานของคปต. ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะความเข้าใจโจทย์ไม่เหมือนกัน

หากพูดถึงปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ กอ.รมน.จะเข้าใจสภาพปัญหาในจังหวัดชายแดนใต้ว่าเกิดจากภัยแทรกซ้อน แต่เมื่อพูดคุยกับคนในพื้นที่จะพบว่าปัญหาเกิดขึ้นนั้นเกิดจากกลุ่มบีอาร์เอ็น

เมื่อต่างฝ่ายต่างเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ตรงกัน การวางกรอบแนวทางการแก้ไขไปจนถึงการจัดทำนโยบายและยุทธวิธีก็จะไปกันคนละทิศละทาง ปัญหาก็ไม่ได้รับการแก้ไข

ปกติจะมีหน่วยงานหลักๆ โดยเฉพาะส่วนราชการในพื้นที่ หรือผู้รับผิดชอบในแต่ละกระทรวงคอยทำหน้าที่ รวมทั้งแก้ไขปัญหาในพื้นที่อยู่แล้ว ดังนั้น คปต.ทำให้การทำงานในพื้นที่อิหลักอิเหลื่อ บางครั้งก็แลดูเป็นส่วนเกิน

ในส่วนของการสร้างความเข้าใจ การแก้ ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ ต้องย้อนกลับไปดูคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ยังทะเลาะกันนัวเนีย ไร้ซึ่งความเป็นเอกภาพในการทำงาน

ทำให้การแก้ปัญหาส่วนนี้ยังไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้วางแนวทางแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ก็พอจะแก้ปัญหาไปได้บ้าง

ในส่วนของการประสานการถอนฟ้องนักสิทธิมนุษยชนทั้ง 3 ราย เป็นเรื่องดีแต่ก็ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ อาจเป็นเพราะผู้ใหญ่บี้มาให้ถอนฟ้อง ซึ่งควรถอนฟ้องโดยลดเงื่อนไข และหากเป็นไปได้ควรถอนฟ้องในอีกหลายๆ กรณีด้วย เพราะศึกนอกก็มากอยู่แล้วจะมาเพิ่มศึกในอีกทำไม

ขอตั้งข้อสังเกตว่ากรรมการสิทธิฯในพื้นที่ บางรายไปเป็นแนวร่วมมุมกลับให้กลุ่มผู้ก่อ ความไม่สงบ ดังนั้น คปต.ต้องรอบคอบมากกว่า เดิม

ส่วนการจัดการเรื่องที่ทำกินหรือการแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาก็ยังแก้ปัญหาได้ไม่ดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้มีความสลับซับซ้อนมากพอสมควร เข้าใจยาก มีทั้งในส่วนภาครัฐและของเอกชน

ต้องยอมรับว่ามีการช่วงชิงมวลชนระหว่างฝ่ายรัฐและฝ่ายที่ก่อความไม่สงบ โดยกลุ่มบีอาร์เอ็นชุดใหม่ได้ช่วงชิงคน ในระบบการศึกษาไปแล้ว ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลได้แต่เริ่มตั้งหลัก ยังไม่ได้ทำ อะไรเลย

การศึกษาทั้งประเทศยังจะพังทั้งระบบตั้งแต่ใช้มาตรา 44 ฟื้นศึกษาธิการจังหวัดและอำเภอ ทั้งๆ ที่ยกเลิกใช้มานานกว่า 50 ปีมาแล้ว ย้อนยุคไปอีก เหมือนเบื่อแมวเลยไปเอาไดโนเสาร์กลับมา

สรุปแล้วตลอดการทำงานและการแก้ปัญหาในทุกด้านของ คปต.ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาถือว่าสอบไม่ผ่าน

3.อาทิตย์ ทองอินทร์

คณะสังคมศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต

พูดกันตามตรงในส่วนของคปต.หรือ ครม.ส่วนหน้า ไม่ได้ทำอะไรใหม่ ตามยุทธศาสตร์เดิมที่ตั้งต้น สมช.มีแผนงานบูรณาการเชื่อมโยงให้มีความเป็นเอกภาพและประสิทธิ ภาพที่สูงขึ้นอยู่แล้ว ซึ่งเป็นที่มาของคปต.

มี 2 เรื่องย่อยที่คปต.ทำอย่างเข้มแข็งและทำงานหนัก อย่างแรกคือการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงาน กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ การตั้งสำนักงานหรือไปทำงานในพื้นที่ จะเห็นการร้อยเรียงกันมากขึ้น หรือมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกันมากขึ้น ตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องชมเชย

คปต.ยังจัดเวทีรับฟังความเห็นในพื้นที่ และมีความพยายามทำงานเชิงรุก ส่งเสริมกระบวนการพูดคุย โดยจัดการรับฟังความเห็น เสวนากับภาคประชาสังคม ซึ่งจะช่วยเสริมงานเรื่องการพูดคุยเรื่องสันติสุขด้วย ไม่ใช่แต่การขับเคลื่อนงานตามนโยบายของรัฐ

ส่วนที่ คปต.ระบุผลงานรอบ 6 เดือน มีค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ในระดับดีมากนั้น ใครเป็นคนประเมิน การทุ่มเททรัพยากรลงไปทั้งงบประมาณ และด้านความมั่นคงมากอยู่แล้ว จึงไม่แปลกที่ผลจะออกมาแบบนั้น แต่ควรเป็นการประเมินจากหน่วยงานข้างนอก

ส่วนเรื่องกระบวนการยุติธรรม อาจเป็นช่องว่างพอสมควรระหว่างนักสิทธิมนุษยชนกับภาครัฐ หากส่งเสริมการทำงานร่วมกันได้จะทำให้กระบวนการยุติธรรมเป็นธรรมต่อทุกคนและมีข้อกังขาน้อยลง

การนำประชาชนร่วมฝึกกับเจ้าหน้าที่เพื่อคุ้มครองความปลอดภัย และจัดชุดพนักงานสอบสวนคดีมั่นคงเสริมการปฏิบัติงานเรื่องนี้เป็นเหมือนดาบสองคม ข้อดีคือช่วยลดทอนความจำเป็นที่ไม่ต้องพึ่งพิงอยู่กับกองกำลังที่มาจากข้างนอก

เช่น ทหารที่มาจากทัพภาคอื่น ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้จะมาด้วยเจตนาดีแต่มีอุปสรรคเรื่องความเข้าใจในพื้นที่ เมื่อไม่เข้าใจเพียงพอก็จะเป็นเงื่อนไขใหม่ในพื้นที่

แต่การให้พลเรือนมีส่วนร่วมในการรักษาความปลอดภัย มีอาวุธในครอบครองได้ ต้องเข้าใจก่อนว่าพลเรือนไม่ได้ถูกฝึกมาให้อยู่ในวินัยเหมือนนักรบ หลายพื้นที่พลเรือนเหล่านี้ก็ใช้การเข้าถึงอาวุธตอบสนองเรื่องส่วนตัว การสร้างเครือข่าย อิทธิพล เป็นต้น

ส่วนการสร้างความเข้าใจ แก้ปัญหาความขัดแย้งที่ยังติดเรื่องสิทธิมนุษยชนนั้น ถูกต้องที่ถอนฟ้อง 3 นักสิทธิมนุษยชน เนื่องจากทางทฤษฎีหน่วยงาน เหล่านี้คือทีมงานเดียวกันกับภาครัฐไม่ใช่ฝ่ายตรงข้าม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน