คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

เพียงข้อสงสัยว่าประชาชนมีส่วนร่วมในการวางแผนยุทธศาสตร์ชาติอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนอยู่แล้ว

การคัดเลือกคณะกรรมการในร่างพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ก็ยังเป็นประเด็นที่น่าแปลกใจขึ้นไปอีก โดยเฉพาะผู้นำกองทัพและผู้นำระดับสูงในด้านความมั่นคงจำนวนกว่า 5-6 นายด้วยเหตุผลว่าเพื่อให้เกิดความมั่นใจ

นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนจากองค์กรวิชาชีพที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้นจำนวนไม่เกิน 14 คน

การแต่งตั้งดังกล่าวระบุว่า ให้คำนึงถึงความหลากหลายของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และความหลากหลายของช่วงอายุ

แต่ยังไม่พบข้อความใดระบุว่า คณะกรรมการเหล่านี้จะเชื่อมโยงกับประชาชนอย่างไร

ช่วงเวลาเดียวกันนี้ยังมีความเคลื่อนไหวอีกเรื่อง ว่าด้วยโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ Yuan Class S26T จากประเทศจีน 1 ลำ จำนวน 13,500 ล้านบาท ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ไปแล้วเมื่อวันที่ 18 เม.ย.

จากนี้กองทัพเรือจะพิจารณาระเบียบวาระในการเซ็นสัญญาการจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีน โดยส่งผู้แทนรัฐบาลไทยไปเซ็นสัญญาซื้อขายแบบจีทูจี ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน

การตัดสินใจและเดินหน้าโครงการดังกล่าวนี้ อาจมีความสำคัญและต้องการความรวดเร็ว แต่ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีคำถามว่า จะทำให้ประชาชนมีส่วนรับรู้และมีความเห็นได้อย่างไร

ในเมื่อเป็นเงินภาษีของรัฐและเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของประชาชน

ปัญหาที่สะท้อนอยู่ในช่วงเวลาไม่ปกตินี้ คือการตัดสินใจในเรื่องสำคัญของประเทศมีข้อจำกัดสูงมาก และมีการรับรู้ที่อยู่ในวงแคบ

เนื่องจากกลไกทางการเมืองขณะนี้ ไม่อยู่ในระดับที่สร้างความเชื่อมั่นในด้านการดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม

การที่ทหารหรือผู้นำกองทัพรับรู้รับทราบในความเป็นไปของบ้านเมืองย่อมไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่ประชาชนก็ควรต้องรับรู้รับทราบในระดับเท่าเทียมกัน

การบริหารประเทศด้วยผู้มีความสามารถนั้นสำคัญ แต่ที่สำคัญยิ่งกว่า คือจะทำอย่างไรให้การบริหารนั้นครอบคลุมคนทั้งประเทศ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน