FootNote:ปรากฏการณ์ FLASH MOB เป็นการชุมนุมหรือการสังสรรค์

คล้ายกับว่า การไม่ขออนุญาตในกิจกรรม FLASH MOB ที่ลานสกายวอล์ก ปทุมวัน เมื่อเวลา 17.00-18.00 น.ของวันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม จะเป็นไปโดยตั้งใจและเจตนา

บนพื้นฐานความคิดที่ว่ากิจกรรม FLASH MOB มิได้เป็นการชุมนุมทางการเมือง

จึงไม่จำเป็นต้องขออนุญาตตามพรบ.การชุมนุมฯ 2558

ตรงกันข้าม ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะมองผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ ไม่ว่าจะมองผ่านภาพข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ ดำเนินไปในลักษณะของการสังสรรค์มากกว่า

การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะออก”หมายเรียก”จึงยังเป็นประเด็นที่สามารถโต้แย้งในทางกฎหมายได้

ตรงนี้ต่างหากที่ละเอียดอ่อนอย่างเป็นพิเศษในทางการเมือง

ต้องยอมรับว่า การชุมนุมในลักษณะคล้ายกับ FLASH MOB เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงก่อนการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562

อย่างที่เรียกว่าเป็นการเคลื่อนไหวอยากเลือกตั้งของกลุ่ม MBK และกลุ่ม RDN

หลายคนถูกจับ หลายคนถูกส่งฟ้อง

แต่ภายหลังเมื่อมีการยกเลิกประกาศและคำสั่งคสช. และรวมถึงคำสั่งหัวหน้าคสช.ตามมาตรา 44 รวมถึงการหมดสิ้นไปของมาตรา 44 ภายหลังการเลือกตั้ง

ไม่ว่าคดี MBK ไม่ว่าคดี RDN ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ศาลสั่งจำหน่าย จำนวนไม่น้อยที่อัยการไม่ส่งฟ้องดำเนินคดี หากแต่ปล่อยให้ผ่านเลยไป

ความจัดเจนนี้ย่อมส่งมอบมายังปรากฏการณ์ FLASH MOB

ความขึงขังอันสำแดงผ่านเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เชียงใหม่ก็ดี ความขึงขังอันสำแดงผ่าน ผบก.น.6 ก็ดี

จึงเป็นสิ่งที่ต้องติดตามอย่างมีการวิเคราะห์ วิจารณ์

ยิ่งความพยายามของ ส.ว.บางคนที่ยกเอาความจัดเจนในยุคที่มีรองผบ.ตร.ดูแลด้านความมั่นคงอย่าง พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล มาข่มขู่

ยิ่งมีความจำเป็นต้องล้างหูน้อมรับฟัง ไม่ว่าจะเป็นผู้มีส่วนร่วมใน FLASH MOB หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ตาม

เพราะทุกคนล้วนผ่าน”บทเรียน”นี้มาแล้วด้วยกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน