คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศหรือสปท. พิจารณารายงานผลการพิจารณาพฤติกรรมของสมาชิกที่ทำร้ายร่างกายพนักงานเสิร์ฟร้านอาหาร เพราะไม่พอใจที่เรียกว่า “ป๋า” ว่าเป็นการกระทำหรือมีพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมหรือไม่

โดยมีมติชี้ว่าเป็นการฝ่าฝืน ส่วนข้อสรุปว่าไม่ร้ายแรงนั้น ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย แต่เมื่อให้ลงโทษด้วยการประณามก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน สุดท้ายจึงมีมติแค่ว่ากล่าวตักเตือนเท่านั้น

สำหรับการประชุมเรื่องนี้เป็นการประชุมลับ ใช้เวลาถึง 4 ชั่วโมง มีการอภิปรายแสดงความคิดเห็นเป็น 2 แนวทาง กลุ่มแรกเห็นว่าไม่ร้ายแรง เพราะจ่ายค่าปรับไปแล้วจึงถือว่าในทางคดีสิ้นสุด

ประกอบด้วยตำรวจ ทหาร นักกฎหมาย และทนายความ

กลุ่มที่สอง มีความเห็นแย้งว่าแม้จะจ่ายค่าปรับแล้ว แต่สมาชิกสปท. คือผู้ที่มีเกียรติในการทำหน้าที่ จึงควรมีมาตรฐานจริยธรรมที่สูงกว่าบุคคลทั่วไป

อีกทั้งเมื่อได้รับการคัดเลือกมาก็สมควรเป็นแบบอย่างที่ดี อย่าให้ใครประณามได้ว่ามีพฤติกรรมไม่ต่างจากสภาผู้แทนราษฎร เพราะ สปท.ล้วนเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ต้องควบคุมอารมณ์ตัวเองให้ได้ โดยเฉพาะในที่สาธารณะ

น่าสังเกตว่ามีการนำไปเปรียบเทียบกับพฤติกรรมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย จึงทำให้รับรู้ได้ว่าบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งมาจากผู้มีอำนาจ มองสภาที่มาจากประชาชนเช่นไร

ยกตัวว่ามีจริยธรรมสูงกว่า มีความรู้ความสามารถมากกว่า

ไม่เพียงสปท.เท่านั้น แต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือสนช. ก็เคยมีการตรวจสอบจริยธรรม เช่น กรณีแสดงพฤติกรรมสะใจด้วยกิริยาอาการแปลกๆ หลังทราบผลการถอดถอนนักการเมือง แต่ผลการตรวจสอบก็สรุปว่า ไม่มีเจตนา ล่าสุด คือการตรวจสอบจริยธรรมของสมาชิกสนช. จำนวน 7 คน ผลออกมาก็ทำให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์มากมายว่า ไม่มีอะไรจริงจัง

เหล่านี้ขัดแย้งกับการยกตัวว่ามีจริยธรรมสูงกว่า สภาที่มาจากประชาชน

เป็นธรรมชาติของสภาที่มาจากการแต่งตั้ง ย่อมไม่กังวลสายตาของประชาชนว่าจะมองอย่างไร แต่จะคำนึงหรือรับฟังจากผู้มีอำนาจที่ทำหน้าที่แต่งตั้งตนเองเท่านั้น

อะไรก็ตามที่เชื่อมโยงกับคนส่วนใหญ่ ถูกตรวจสอบได้โดยคนส่วนใหญ่ ย่อมดีกว่าอำนาจที่ปกปิดมุบมิบกันในเฉพาะกลุ่มผู้มีอำนาจอย่างแน่นอน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน