วิ่งไล่ลุง-วิ่งตามลุง

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

วิ่งไล่ลุง-วิ่งตามลุง : กลุ่มกิจกรรมการเมืองแถลงข่าวจัดกิจกรรม วิ่งไล่ลุง ว่าจะมีวันที่ 12 ม.ค. ปีหน้า ด้วยวัตถุประสงค์ วิธีการ และความคาดหมายต่างๆ อย่างเปิดเผยต่อสาธารณชน

ปรากฏว่ามีปฏิกิริยาจากกลุ่มคนหลากหลายกลุ่มต่อกิจกรรมครั้งนี้ ทั้งสนับสนุนและต่อต้าน

รวมถึงการจัดกิจกรรม วิ่งตามลุง และการก่อตัวของกลุ่มต่อต้านพวกชังชาติ มาแข่งขันด้วย เพื่อสะท้อนเสียงอีกฝั่งหนึ่ง สร้างความคึกคักและวิตกกังวลไปพร้อมๆ กัน

แม้ว่าชื่อของกิจกรรมทั้งสองฝ่ายไม่ได้ระบุว่า ลุงเป็นใคร แต่ทุกคนทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันว่าหมายถึงใคร

การวิ่งไล่ลุง และวิ่งตามลุง จึงเป็นการใช้ภาษาสะท้อนความคิดเห็นและความเป็นไปทางการเมืองได้อย่างชัดเจน

ฝ่ายที่ทำกิจกรรมวิ่งไล่ลุง กำหนดข้อเรียกร้องไปยังลุง 3 ข้อ ได้แก่ แก้ไขปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย และหยุดใช้อำนาจเพื่อพวกพ้อง หยุดรังแกคุกคามคนเห็นต่าง

ส่วนฝ่ายวิ่งตามลุง ต้องการแสดงพลังสนับสนุนรัฐบาล และผู้นำที่มาจากรัฐบาลยุครัฐประหาร หรือคสช.

ความเห็นที่แตกต่างอย่างชัดเจนของกลุ่มคนทั้งสอง ไม่แตกต่างจากเมื่อครั้งมีผู้ชุมนุมสีเสื้อ จนมาถึงการชุมนุมเป่านกหวีด การนิยามกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตย ว่าเป็นพวกซ้ายจัดดัดจริต และพวกชังชาติ

การปะทะกันทางความคิดดังกล่าว ยังคงถูกแบ่งคั่นด้วยอุดมการณ์ประชาธิปไตย และมีปัจจัยทางเศรษฐกิจมาเป็นตัวผลักดัน

หากรัฐบาลรับมือกับสถานการณ์นี้ด้วยนโยบายที่ประกาศและให้คำมั่นไว้ว่า จะเป็นรัฐบาลของประชาชนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน การวิ่งไล่ลุงอาจไม่ได้รับความสนใจมากนัก

แต่ปัญหาขณะนี้ กลับเป็นบุคคลฝ่ายรัฐบาลเองที่โจมตีกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อคนกลุ่มเดียว คือกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล

อีกทั้งยังสร้างภาพและวาทกรรมว่า การทำกิจกรรมในที่สาธารณะที่ไม่ใช้ความรุนแรง เป็นเรื่องผิดปกติและทำลายประเทศ ไม่เคารพกฎหมาย

หากรัฐบาลไม่ทบทวนเรื่องนี้ และไม่เปลี่ยนท่าทีมาเป็นมิตรต่อประชาธิปไตย ความแตกแยกแบ่งขั้วที่เริ่มเข้มข้นขึ้นนี้อาจส่งผลลบต่อรัฐบาลเอง

…อ่าน…

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน