ปมผ้าอนามัย

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ปมผ้าอนามัย – ข้อถกเถียงเรื่องราคาและการจัดเก็บภาษี ผ้าอนามัย สินค้าจำเป็นสำหรับผู้หญิง กลายเป็นประเด็นการเมืองที่ฝ่ายรัฐบาลส่งสัญญาณว่าอาจดำเนินคดีกับสมาชิกฝ่ายค้านที่มีข้อวิจารณ์ ว่าปล่อยข่าวปลอม หรือเฟกนิวส์

ไม่ว่าการต่อสู้เรื่องนี้จะลงเอยไปในทิศทางใด สิ่งที่สังคมได้รับทราบคือข้อมูลจากหน่วยงานราชการ และการเปิดประเด็นถกเถียงว่า ควรจัดการเรื่องราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของประชาชนชนิดนี้อย่างไร

หลังจากกรมสรรพสามิตและกรมการค้าภายในต่างยืนยันว่า ผ้าอนามัยแบบแผ่นไม่ใช่สินค้าในกลุ่มเครื่องสำอาง ไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือย แต่เป็นสินค้าควบคุม

ดังนั้นผู้ซื้อสินค้าผ้าอนามัยจึงเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 7 ส่วนสินค้า นำเข้าคิดเป็นภาษีร้อยละ 10 ไม่ใช่ภาษีร้อยละ 40 ตามที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตำหนิรัฐบาล

จากข้อมูลของราชการ ผ้าอนามัยขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าควบคุมมาตั้งแต่ปี 2551 และมีการทบทวนขยายมาจนถึงปัจจุบัน

ส่วนผ้าอนามัยแบบสอดถูกกำหนดเป็นเครื่องสำอาง ตามพ.ร.บ.เครื่องสำอาง มาตั้งแต่ปี 2558

กรณีดังกล่าวอาจทำให้ถูกเข้าใจผิด เนื่องจากเครื่องสำอางเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย มีพิกัดภาษี ร้อยละ 40 แต่ในความเป็นจริงแล้วผ้าอนามัยยังคงเป็นสินค้าควบคุม

แม้จะมีคำชี้แจงแน่ชัดแล้ว แต่ข้อถกเถียงที่ยังค้างคาอยู่ คือราคาผ้าอนามัยปัจจุบันแพงหรือไม่

การรณรงค์ในโลกออนไลน์ของภาคประชาชน รวมถึงสมาคมเพศวิถี เปรียบเทียบนโยบายคุมราคาผ้าอนามัย กับนโยบายสุขภาพและการป้องกันการคุมกำเนิด ที่ปัจจุบันบรรจุถุงยางอนามัย เป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพขั้นพื้นฐาน หรือในสิทธิบัตรทองด้วย ซึ่งผู้ใช้สิทธิขอตามสถานพยาบาลได้ฟรี

สำหรับผู้ผลิต อาจคิดหาคุณลักษณะพิเศษให้ผ้าอนามัยมีคุณสมบัติดีขึ้น และราคาก็อาจขึ้นตามมา

เมื่อพิจารณาว่าผ้าอนามัย 1 ห่อ ราคาประมาณ 40-60 บาท หากใช้ตามหลักสุขภาพที่ควรเปลี่ยนทุก 2-3 ชั่วโมง เฉลี่ยแล้วเดือนหนึ่งๆ ผู้บริโภคอาจต้องเสียเงินซื้อ 400 บาท ซึ่งราคานี้แพงหรือไม่ จะนำไปสู่ปมความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ที่แพงสำหรับบางคน และไม่แพงสำหรับบางคน

เรื่องนี้น่าจะสำคัญและน่าใส่ใจมากกว่าจะจัดการใครเรื่องเฟกนิวส์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน